Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 มกราคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จับตาเกาหลีใต้ใช้ประโยชน์จาก FTA : ขยายการลงทุนในอาเซียน-ไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2029)

คะแนนเฉลี่ย

การจัดทำความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ คาดว่าจะช่วยให้สินค้าส่งออกของอาเซียนรวมทั้งไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนที่แย่งส่วนแบ่งตลาดของอาเซียนในเกาหลีใต้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2545-2549) และคาดว่าจะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดสินค้าของอาเซียนในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น เนื่องจากภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ เกาหลีใต้ต้องยกเลิกภาษีศุลกากรสินค้าในสัดส่วนร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดที่เกาหลีใต้นำเข้าจากอาเซียนภายในปี 2553 สำหรับประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยควรเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งขณะนี้การเจรจาเปิดตลาดสินค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ได้ข้อยุติแล้ว คาดว่าจะเริ่มลดภาษีภายใต้ FTA ได้ภายในปี 2551 หลังจากที่อาเซียนอื่นๆ เริ่มใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดของเกาหลีใต้ภายใต้ FTA ไปก่อนแล้วในช่วงกลางปี 2550

ด้านการลงทุนของเกาหลีใต้ในอาเซียน การลงทุนโดยตรงของเกาหลีใต้ในอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่

1. สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรสำหรับการค้าภายในอาเซียนตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ที่ทำให้เกาหลีใต้เล็งเห็นถึงผลดีของการเข้ามาลงทุนในอาเซียน และสามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือส่วนประกอบจากอีกประเทศอาเซียนหนึ่งได้โดยเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ (ไม่เกินร้อยละ 5) ภายใต้กรอบ AFTA

2. การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าและภาคบริการในกรอบความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ที่ส่งผลให้การนำเข้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปและสินค้าทุนจากเกาหลีใต้เข้าอาเซียนมีอัตราภาษีต่ำลงภายใต้การเปิดเสรีด้านสินค้าระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ นอกจากนี้ เกาหลีใต้สามารถเข้าไปจัดตั้งธุรกิจบริการในอาเซียนได้มากขึ้น เช่น บริการด้านการศึกษา สุขภาพ และท่องเที่ยว จากการลดกฎระเบียบ/เงื่อนไขของอาเซียนตามข้อตกลงเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้

สำหรับประเทศไทย แม้มูลค่า FDI ของเกาหลีใต้ในไทยที่ผ่านมายังไม่สูงนัก แต่การลงทุนโดยตรงของเกาหลีใต้ในไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2549-2550) ขยายตัวอย่างต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด และประเภทโครงการลงทุนของเกาหลีใต้ที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ มูลค่า FDI ของเกาหลีใต้ในไทยที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการดำเนินนโยบายเปิดเสรีในเชิงรุกของไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการจัดทำความตกลง FTA ทวิภาคีของไทยกับหลายประเทศ ทำให้เกาหลีใต้เห็นถึงประโยชน์ของการเข้ามาลงทุนในไทยและส่งออกไปยังประเทศที่สามที่ไทยจัดทำความตกลง FTA ด้วยซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง FTA ดังกล่าว สำหรับธุรกิจบริการไทยที่มีศักยภาพ เช่น ร้านอาหาร และโรงแรม มีโอกาสขยายการลงทุนไปเกาหลีใต้ จากการเปิดเสรีภาคบริการของความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ที่เกาหลีใต้เปิดให้นักลงทุนอาเซียนสามรถเข้าไปลงทุนถือหุ้นได้ทั้งหมด (สัดส่วนร้อยละ100) ในหลายสาขา ที่สำคัญ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจบันเทิง และบริการทำความสะอาด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ