Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 กุมภาพันธ์ 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เวียดนามพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ … สร้างโอกาสการลงทุนของไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2043)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตรามากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ในช่วง 5 ปีมานี้ (2546-2550) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามรักษาระดับการเติบโตในอัตราร้อยละ 8 แม้ว่าการส่งออกของเวียดนามในปี 2551 จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากเวียดนามต้องเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญๆ อย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการ NTBs ต่างๆ ของประเทศคู่ค้า แต่คาดว่าการส่งออกโดยรวมของเวียดนามยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามที่สร้างรายได้เข้าประเทศต้องประสบปัญหาจากความไม่พร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุนภายในประเทศ และการขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ที่สำคัญ ได้แก่ สิ่งทอ/เสื้อผ้า ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ ฝ้าย เส้นใย และโพลีเอสเตอร์ รวมทั้งเครื่องจักรสำหรับย้อมผ้าจากต่างประเทศ รองเท้า ต้องนำเข้าวัสดุ/อุปกรณ์ตกแต่งรองเท้าและเครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศ

การพึ่งการการนำเข้าวัตถุดิบของเวียดนามทำให้การส่งออกสินค้าของเวียดนามต้องอิงกับความผันผวนของวัตถุดิบในตลาดโลก และทำให้มูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกของเวียดนามในตลาดโลก ทางการเวียดนามจึงมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลาง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเน้นการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพมีโอกาสเข้าไปลงทุนผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำในเวียดนาม ได้แก่ สิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ (เช่น โรงงานผ้าผืน โรงงานฟอกย้อม) วัสดุตกแต่งและเครื่องหนังสำหรับผลิตรองเท้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติกขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลายในเวียดนาม เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม และการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับผลดีจากต้นทุนค่าแรงงานราคาถูกในเวียดนามด้วย

นักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามควรพิจารณาจัดตั้งธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่างๆ ที่ทางการเวียดนามจัดตั้งขึ้นเพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่สำคัญ ได้แก่ เขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone : IZ) และเขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone : EPZ) เนื่องจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนำเข้าสินค้า โดยทางการเวียดนามไม่ได้จำกัดรูปแบบการลงทุนสำหรับกิจการหรือโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนถือหุ้นได้ในสัดส่วนร้อยละ 100

อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายที่นักลงทุนไทยควรระวังในการเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจีสติกส์ของเวียดนามที่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนแรงงานทักษะในเวียดนาม ที่ทำให้ค่าจ้างแรงงานทักษะปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน ภาครัฐของไทยควรสนับสนุนและช่วยเหลือด้านข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม เพื่อเตรียมความพร้อมของนักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเวียดนามให้มีข้อมูลครบถ้วนและสามารถรับมือกับปัญหาและความ ท้าทายต่างๆ ก่อนเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลด้านการตลาด คู่แข่งขันในตลาด ข้อมูลทางการเงิน และกฎระเบียบภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ เช่น กฎหมายแรงงาน และกฎระเบียบด้านการเงิน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ