Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 มีนาคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

คลัสเตอร์อุตสาหกรรมจีน: เคล็ดลับฐานการผลิตโลก (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2048)

คะแนนเฉลี่ย

จีนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของโลก นอกจากต้นทุนค่าแรงที่ถูกแล้ว ต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในจีนยังมีความได้เปรียบประเทศส่วนใหญ่ในโลก อันเนื่องมาจากการก่อตัวขึ้นของเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตหรือคลัสเตอร์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจีน ซึ่งช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ ตลอดจนการจัดหาวัตถุดิบ การสต็อกสินค้า ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่า จีนเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนต่ำตลอดห่วงโซ่การผลิตนับตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ และโยงไปจนถึงการจัดการด้านโลจิสติกส์ ระบบคลังสินค้า และการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าปลายทาง เฉพาะอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอมีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ถึง 108 คลัสเตอร์ทั่วประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอื่นที่สำคัญ เช่น รองเท้า ผ้าไหม กระเป๋าเดินทาง ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ เปียโน นาฬิกา เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ จักรยาน มอเตอร์ไซค์ เครื่องจักร เป็นต้น

การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของจีนมีรูปแบบต่าง ๆ กันขึ้นกับประเภทของสินค้าและลักษณะการสะสมทุนของผู้ประกอบการ ดังนี้

1.) คลัสเตอร์ที่พัฒนาจากอุตสาหกรรมครัวเรือน ส่วนใหญ่เริ่มจากอุตสาหกรรมเบา และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เมืองที่มีความโดดเด่นมากคือเมือง Wenzhou มณฑลเจ้อเจียง ที่มีการเติบโตของธุรกิจ SME อย่างรวดเร็วจนเป็นต้นแบบการพัฒนา SME ของจีน

2.) คลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในอุตสาหกรรมส่งออก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเสื้อผ้า รองเท้า พลาสติก และธุรกิจโลจิสติกส์ที่จัดหาวัตถุดิบที่สำคัญของจีน ช่น มณฑลกวางตุ้ง มีการลงทุนจากต่างชาติกว่าหนึ่งหมื่นกิจการ โดยกว่าร้อยละ 90 เป็น SME

3.) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมไฮเทค เช่น Zhonguancun (ZGC) ชานกรุงปักกิ่งแถบมหาวิทยาลัยปักกิ่งและชิงหัว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น Silicon Valley ของจีน

4).) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมไม้แปรรูปที่เมือง Pizhou มณฑลเจียงซู คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารที่เมือง Luohe มณฑลอันฮุย เป็นต้น

5.) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดค้าส่งไม้แปรรูปที่เมือง Linyi มณฑลซานตง ที่มีตลาด 44 แห่งและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้กว่า 5,000 ราย

การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของจีนมีลักษณะเฉพาะตัว ดังนี้

1.) ส่วนใหญ่เป็น SME ภาคเอกชน เช่น คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เมือง Wenzhou มณฑลเจ้อเจียง ร้อยละ 97 ของธุรกิจที่นั่นเป็นภาคเอกชน

2.) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมในจีนมีการกระจุกตัวในบางพื้นที่ โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำเพิร์ล (PRD) ลุ่มแม่น้ำแยงซี (YRD) และแถบอ่าวปั๋วไห่ (Bohai-rim)

3.) บางอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะมีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เช่น รองเท้า สิ่งทอ พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เป็นต้น

4.) มีการแบ่งงานกันทำเฉพาะด้านสูง โดยแต่ละขั้นตอนการผลิตมักดำเนินการโดยผู้ผลิตย่อยต่าง ๆ ที่มีอิสระจากกันและสินค้าชิ้นส่วนต่าง ๆ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาดค้าส่งในพื้นที่ใกล้เคียง

5.) การเติบโตของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาจเกิดขึ้นจากการลงทุนของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งมีแรงดึงดูดอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กต่าง ๆ ให้มารวมตัวกัน ดังเช่น การลงทุนของ Changhong และ TCL ที่เมือง Nantou

6.) การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมักเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดค้าส่งสินค้าอุตสาหกรรมและวัตถุดิบ ตัวอย่างหนึ่งคือ ตลาดอี้อู (Yiwu) มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีสินค้าให้เลือกซื้อถึง 320,000 รายการ จากกว่า 40,000 ร้านค้า

7) .คลัสเตอร์อุตสาหกรรมมีวงจรอายุของตนเอง เริ่มจากช่วงเริ่มต้นเพียงไม่กี่ธุรกิจที่ขาดความเชื่อมโยงกับผู้ผลิตอื่น ๆ จากนั้น ความสำเร็จของธุรกิจที่เริ่มขึ้นจึงดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการอื่นจนเริ่มมีการรวมตัวและขยายเครือข่ายของธุรกิจ

สำหรับประเทศไทย การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมีในวงจำกัด คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เป็นรูปธรรมและมีความเชื่อมโยงในลักษณะห่วงโซ่อุปทานที่ชัดเจนได้แก่ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์การผลิต Hard Disk Drive คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหาร คลัสเตอร์กล้วยไม้ และคลัสเตอร์เซรามิกส์ เป็นต้น แต่ขนาดคลัสเตอร์ของไทยเทียบไม่ได้กับการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของจีนที่มีผู้ผลิตในแต่ละคลัสเตอร์หลายพันหรือหลายหมื่นราย และมีการเชื่อมโยงกันในลักษณะต้นน้ำและปลายน้ำสูง ดังนั้น หากไทยจะมุ่งพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมของตนอย่างกว้างขวางก็อาจต้องมีผู้ประสานงานคลัสเตอร์ในระดับต่าง ๆ เช่น ระดับจังหวัดและระดับภาค เพื่อสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ ของคลัสเตอร์ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นการก่อตั้งคลัสเตอร์ โดยสามารถประสานผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders) อย่างกว้างขวาง อาทิ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินที่จะช่วยสนับสนุนด้านเงินทุนในการขยายกิจการ ผู้ให้บริการด้านพัฒนาธุรกิจ ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาวิจัยต่างๆ โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ลดต้นทุนการผลิต จัดการด้านวัตถุดิบ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน รวมไปถึงการจัดการตลาด การวิจัยและการลงทุนต่างๆ ร่วมกันในที่สุด เพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ