ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ถูกตอกย้ำให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วยการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ออกมาสร้างความผิดหวังให้กับตลาดการเงิน ซึ่งก็จะยิ่งทำให้กระแสการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงมีอยู่ต่อไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับเกิดขึ้นพร้อมๆ แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Stagflation เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับโจทย์การดำเนินนโยบายการเงินที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Stagflation ดังกล่าวข้างต้นนั้น อาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของเฟดเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อ อาจต้องเผชิญกับความท้าทายไม่น้อย นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่เฟดเท่านั้นที่อาจเผชิญความยากลำบากในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งหมายความรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ก็อาจต้องเผชิญกับโจทย์นโยบายการเงินที่มีความซับซ้อนในทำนองเดียวกัน และทำให้การดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ดังจะเห็นได้จากการที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4% ในการประชุมเดือนมีนาคมพร้อมกับแสดงความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อแม้ว่าเศรษฐกิจในยูโรโซนเริ่มมีสัญญาณอ่อนแอ ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในอังกฤษทำให้ ธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% ในการประชุมเดือนมีนาคมเช่นกัน แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษจะเป็นขาลงก็ตาม และเช่นเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ระบุถึงแรงกดดันเงินเฟ้อในการประชุมวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 พร้อมกับประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.25% ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ยืนที่ระดับดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องในรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน 5 ครั้งล่าสุด
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ความพยายามอย่างต่อเนื่องของเฟดในช่วงที่ผ่านมาและระยะถัดไป ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจโดยรวม อาจเริ่มทยอยส่งผลกลับมายังระบบเศรษฐกิจซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดที่อยู่อาศัยในระยะถัดไป ในขณะที่มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 ด้วยการเพิ่มปริมาณการปล่อยกู้ในการประมูลวงเงินกู้ระยะสั้น (Temporary Auction Facility: TAF) ในเดือนมีนาคม 2551 ขึ้นสู่ระดับ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และการประกาศวงเงินในการทำข้อตกลงธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรที่อาจมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลอดจนมาตรการเชิงรุกเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดการเงิน (Term Securities Lending Facility) ในวันที่ 11 มีนาคม 2551 ผ่านการขยายโครงการปล่อยสินเชื่อหลักทรัพย์โดยจะจัดสรรพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีสภาพคล่องสูงมูลค่าถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่ดีลเลอร์ชั้นนำ พร้อมกับอนุญาตให้มีการใช้หลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสินเชื่อจำนอง (MBS) ของบริษัทเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือขั้น AAA มาทำสวอปแลกกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้นั้น อาจช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อและปัญหาการขาดสภาพคล่องลงบางส่วน เนื่องจากเม็ดเงินที่พร้อมจะถูกอัดฉีดเป็นวงเงินถึง 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ อาจช่วยทำให้ตลาดสินเชื่อและตลาดการเงินที่ใช้เป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจสามารถกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติมากขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น