Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 มีนาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

ความเหลื่อมล้ำของรายได้...อุปสรรคต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2054)

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จของการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของรายได้ในสังคมไทยเป็นเรื่องสำคัญที่อาจทำให้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศเป็นไปได้ไม่เต็มที่ โดยหากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ และยังอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมและคุณภาพชีวิตในที่สุด ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมา (ปี 2531-2549) การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการเติบโตในอัตราสูงจะทำให้จำนวนประชากรที่ยากจนลดลง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามาตลอด คือ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรลุผลเท่าที่ควร ในขณะที่ความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต ทั้งนี้ จากข้อมูลส่าสุดในปี 2549 แสดงถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำของรายได้อย่างชัดเจน คือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 แรก มีสัดส่วนของรายได้เพียงร้อยละ 3.8 ของรายได้รวม ในขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดมีสัดส่วนของรายได้ถึงร้อยละ 56.3 ของรายได้รวมทั้งหมด กล่าวคือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเกินครึ่งหนึ่งของรายได้รวมทั้งประเทศ ในขณะที่ยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนใดๆ ว่าช่องว่างของรายได้ระหว่างคนสองกลุ่มนี้จะแคบลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงแม้นโยบายที่รัฐบาลนำมาใช้ด้วยการอัดฉีดเงินสู่รากหญ้าผ่านโครงการกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล และอื่นๆ จะถือได้ว่าเป็นความตั้งใจที่ดีในการสร้างโอกาสให้กลุ่มคนจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แต่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้จะเกิดผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรจะต้องสร้างโอกาสด้านการศึกษา ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และพัฒนาคนให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน (ปฏิรูปการศึกษา) รวมทั้ง การให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน เพื่อเพิ่มพูนทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสในด้านเงินทุน (Financial Capital) โดยมีผลทางสถิติเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า คุณภาพของการศึกษามีความสัมพันธ์กับความเท่าเทียมกันด้านรายได้ของประชาชนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษานั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องกว่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้รัฐบาลควรต้องกำหนดเป็นแบบยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ โดยหากดำเนินการได้สำเร็จ นอกจากสามารถทำให้ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมในสังคมไทยลดลงได้แล้ว ยังเป็นผลดีอันนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในที่สุด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย