Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 เมษายน 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนถูกกดดันจากเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ... ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปจีน (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2059)

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจัยท้าทายสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจจีนในปี 2551 ได้แก่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงจนมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยและภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจจีนในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์) ส่งสัญญาณชะลอตัวทั้งดัชนีภายนอกประเทศและดัชนีภายในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าแม้การชะลอตัวของการส่งออกของจีนอันเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2551 จะส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง แต่ภาคเศรษฐกิจภายในประเทศจีนซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ได้แก่ ภาคการลงทุนและการบริโภคยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับปัญหาท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในช่วงต้นปีที่ส่งผลต่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงต้นปีก็ตาม

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2550 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 เนื่องจากราคาอาหารที่สูงขึ้นจากสภาพอากาศที่เลวร้ายที่ถล่มพื้นที่ตอนใต้ของจีน ส่งผลให้ปริมาณอาหารลดลง รวมทั้งกระทบต่อระบบขนส่งและความเพียงพอของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ส่งผลให้อัตราขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกของจีนใน 2 เดือนแรกของปี 2551 ชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าจะมีสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากเงินเฟ้อของจีนที่คาดว่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปทานสินค้าในหมวดอาหารที่น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่คาดการณ์ว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้ หากพิจารณาพื้นฐานเศรษฐกิจจีนที่ยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐสำหรับโครงการขยายการลงทุนก่อสร้างถนน สนามบินและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจีสติกส์ เพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศด้วย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะยังคงขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 9.0-10.0 ในปี 2551 นี้ ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 11.4 ในปี 2550 ที่ผ่านมา

ผลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนต่อการส่งออกของไทยไปจีน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แม้เศรษฐกิจจีนในปี 2551 มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่คาดว่าผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปจีนจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยไปจีนเป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ ประกอบกับทางการจีนมีนโยบายใช้จ่ายสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทดแทนการส่งออกของจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ จึงคาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนโดยรวมในปีนี้จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปยังจีนเพื่อผลิตสำหรับการบริโภคภายในจีนที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปจีนนั้น เป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกของไทยไปจีนโดยรวมยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปจีนซึ่งเป็นสินค้าขั้นกลางใช้สำหรับผลิตและส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ ที่สำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และเม็ดพลาสติก อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวหรืออาจเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ ปัจจัยท้าทายจากค่าเงินหยวนของจีนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปีนี้ อาจกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกจีนที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปจีนเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปประเทศที่สามตามมาด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางการจีนจะดำเนินนโยบายทยอยปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็กของจีน นอกจากนี้ แม้ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปีนี้ แต่จีนยังคงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตรวมถึงค่าแรงงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ

กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนซึ่งจีนใช้เป็นวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม คาดว่าสินค้าส่งออกของไทยที่มุ่งเน้นตลาดการบริโภคภายในประเทศของจีนน่าที่จะมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคภายในจีน ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกของไทยไปจีนโดยรวมน่าจะยังคงเติบโตได้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนในปี 2551 น่าจะขยายตัวได้ราวร้อยละ 25 ใกล้เคียงกับการส่งออกของไทยไปจีนในปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 26.5

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ