Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 เมษายน 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ตลาดเวียดนาม : โอกาสของธุรกิจค้าปลีกไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2144)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนเวียดนามมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย วิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์ และฮานอย เปิดโอกาสให้ธุรกิจค้าปลีกเติบโตได้ดีในเวียดนาม ประกอบกับการเปิดเสรีธุรกิจจัดจำหน่ายของเวียดนามภายใต้ WTO ได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติรวมทั้งธุรกิจค้าปลีกไทยสามารถเข้าไปลงทุนในเวียดนามได้มากขึ้น โดยเวียดนามอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปร่วมทุนในธุรกิจค้าปลีกได้ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 49 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 และสามารถถือหุ้นได้ทั้งหมด (100%) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป รวมทั้งในวันที่ 1 มกราคม 2553 เวียดนามอนุญาตให้ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติสามารถจำหน่ายสินค้าได้ทุกชนิด และยกเลิกข้อจำกัดการขยายสาขาของธุรกิจเฟรนไซส์ด้วย อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีธุรกิจจัดจำหน่ายของเวียดนามนำมาซึ่งโอกาสพร้อมๆ กับการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น ธุรกิจค้าปลีกไทยต้องเผชิญการแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกต่างชาติขนาดใหญ่จากหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่ได้เข้าไปจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามแล้ว รวมทั้งต้องแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นเวียดนามที่ครองตลาดในประเทศอยู่แล้วด้วย รวมทั้งต้นทุนค่าเช่าค้าปลีกและอาคารสำนักงานในเวียดนามที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะพื้นที่เมืองใหญ่ของเวียดนามที่ส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของไทยที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมานานและมีเงินทุนจำนวนมาก รวมทั้งมีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งน่าจะมีศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดค้าปลีกเวียดนามและมีโอกาสขยายธุรกิจห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าในเวียดนามได้ โดยอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน นอกจากนี้สินค้าที่นำเข้าจากไทยไปจำหน่ายในเวียดนามยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้กรอบอาฟต้าด้วย จึงถือเป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจค้าปลีกไทยเมื่อเทียบกับค้าปลีกชาติตะวันตก ทั้งนี้ การจัดตั้งห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าของไทยยังถือเป็นช่องทางที่มีศักยภาพในการช่วยกระจายสินค้าและบริการของไทยในตลาดเวียดนามได้เป็นอย่างดีด้วย

นอกจากนี้ธุรกิจไทยอาจเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกเฉพาะด้านในเวียดนาม โดยอาศัยประโยชน์จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในเวียดนาม เข่น การจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์/ของตกแต่ง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม โดยอาจหาพันธมิตรร่วมทุนชาวเวียดนามที่มีฐานทางธุรกิจค้าปลีกอยู่แล้ว เพื่อประโยชน์ด้านเครือข่ายการจำหน่ายสินค้า แต่สินค้าจำหน่ายของธุรกิจค้าปลีกไทยควรยึดตลาดระดับบน เจาะกลุ่มคนเวียดนามที่มีกำลังซื้อและคนต่างชาติที่เข้าไปทำงาน/นักลงทุนต่างชาติในเวียดนาม โดยเน้นการสร้างแบรนด์และการออกแบบ เพื่อหนีการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในเวียดนามหรือสินค้านำเข้าที่ราคาถูกกว่าจากประเทศจีน

ทั้งนี้ นอกจากการคำนึงถึงภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดค้าปลีกเวียดนามและค่าเช่าค้าปลีกที่อยู่ในระดับสูงแล้ว การให้ความสำคัญกับความต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันของเวียดนาม การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงธรรมเนียมและวัฒนธรรมของเวียดนามเป็นสิ่งสำคัญต่อโครงสร้างการจัดซื้อและการกระจายสินค้าของธุรกิจค้าปลีก เพราะแม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวอย่างรวดเร็วและวิถีชีวิตของคนเวียดนามจะเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นก็ตาม แต่ปัจจุบันคนเวียดนามก็ยังยึดถือธรรมเนียมวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ค่อนข้างสูง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ