Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 พฤษภาคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เหตุแผ่นดินไหวในจีน ... กระทบเศรษฐกิจจีนไม่มากนัก คาดจีดีพีทั้งปี 2551 ยังคงขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 9.0 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2164)

คะแนนเฉลี่ย

เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.8 ริคเตอร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตจนถึงปัจจุบันพุ่งขึ้นเป็นจำนวนอย่างน้อย 15,000 คน โดยผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดอยู่ในมณฑลเสฉวน เหตุการณ์ครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบให้เกิดภาวะชะงักงันในภาคธุรกิจของมณฑลเสฉวน โดยเฉพาะเมืองเฉิงตูซึ่งเป็นเมืองเอกขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวน คาดว่าความสามารถของการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมของมณฑลเสฉวนจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง ซึ่งผลผลิตภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากระบบคมนาคมขนส่ง การสื่อสารและระบบไฟฟ้าที่ถูกตัดขาด ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว นอกจากนี้ การรื้อถอนซากปรักหักพังและการบูรณะพื้นที่ที่ได้รับเสียหายต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของทางการจีนสำหรับการบูรณะฟื้นฟูในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ รวมถึงเม็ดเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสอบอาคาร/ตึกสูงที่เหลืออยู่เพื่อเตรียมรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวนได้ในระดับหนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่น่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนโดยรวมมากนัก ทั้งนี้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ของมณฑลเสฉวนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของจีดีพีของจีนทั้งประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวนจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีของจีนไม่เกินร้อยละ 0.3 ในขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจของจีนโดยรวมในปี 2551 ยังคงขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 9.0 จากไตรมาสแรกของปีนี้ที่ขยายตัวร้อยละ 10.6

ในฐานะที่เฉิงตูเป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ พืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ข้าว เมล็ดเรฟ (rapeseed) ถั่วลิสง เมล็ดงา ผัก ผลไม้ สมุนไพรจีน และเนื้อหมู กล่าวได้ว่าในระดับมณฑลของจีน มณฑลเสฉวนเป็นแหล่งผลิตธัญพืชมากเป็นอันดับที่ 2 ของจีน และสามารถผลิตเนื้อหมูได้มากเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรของมณฑลเสฉวน คาดว่าจะทำให้อุปทานสินค้าในหมวดอาหารลดลงและกดดันภาวะเงินเฟ้อของจีน โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของจีนในปี 2551 อาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.5-7.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.8 ในปีก่อนหน้า ถือว่าเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 12 ปี ซึ่งน่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางของจีนยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราเงินสำรอง (Reserve Requirement Ratio : RRR) อีกร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 16.5 ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไป นับเป็นการปรับขึ้นอัตราเงินสำรองของจีนครั้งที่ 4 ตั้งแต่ต้นปี 2551

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ