Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤษภาคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ราคาสินค้าเกษตรพุ่ง: อำนาจต่อรองของไทยบนเวทีเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2176)

คะแนนเฉลี่ย

§ บนเวทีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ผ่านมา ไทยมีท่าทีที่จะผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาเปิดตลาดและลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรให้มากที่สุดโดยเฉพาะกับประเทศพัฒนา แต่เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกตกต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนานทำให้ประเทศคู่เจรจาไม่มีแรงจูงใจที่จะเปิดเสรีสินค้าเกษตรให้กับไทย

§ ราคาสินค้าเกษตรโลกพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่กลางปี 2550 เป็นต้นมา ทั้งราคาพืชอาหารและพืชน้ำมันน่าจะเป็นโอกาสดีที่ไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญรายหนึ่งของโลกจะมีอำนาจต่อรองในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น โดยทั่วไปแล้วภาวะที่สินค้าเกษตรมีราคาแพงจะทำให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรมีอำนาจต่อรองกับประเทศผู้นำเข้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้นในระยะสั้นหรือยาว ความสำคัญทางเศรษฐกิจของสินค้าชนิดนั้นและการรักษาความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก

§ ราคาสินค้าเกษตรพุ่งในช่วงนี้ถูกกำหนดจากปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยชั่วคราว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุปสงค์และอุปทานโลกอย่างต่อเนื่องทั้งภาคพลังงานและอาหารทำให้อุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรไม่สมดุลกันและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมยังคงมีราคาแพงต่อไปในอนาคต ส่วนปัจจัยชั่วคราวเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวนมากและมักส่งผลในระยะสั้นเท่านั้น ราคาสินค้าเกษตรที่ทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภัยธรรมชาติที่ทำให้ปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลงประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลงทำให้นักลงทุนหันมาเก็งกำไรราคาสินค้าเกษตรมากขึ้น

ราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้นและผันผวนมากในระยะสั้นอาจไม่สามารถเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศมากนัก โดยเฉพาะการเจรจา FTA กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เพราะโดยปกติการเจรจา FTA มักใช้เวลาประมาณ 2-4 ปี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคาข้าวที่พุ่งขึ้นในไตรมาสแรกที่ผ่านมาเป็นการปรับตัวในระยะสั้น แม้จะทำให้ไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกได้ประโยชน์จากมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ข้าวซึ่งมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากในระยะนี้มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสภาพยุโรปไม่มากนัก

มีการคาดการณ์ว่า ราคาสินค้าเกษตรสูงมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อไปอีกหลายปีเนื่องจากความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานและอาจจะนำไปสู่วิกฤตอาหารโลกในอนาคต ควบคู่กับวิกฤติพลังงานและภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่าในปัจจุบันหากประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรไม่สามารถเตรียมรับมือได้ทันท่วงที ความท้าทายของไทยคือการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงานภายในประเทศควบคู่กับการรักษาขีดความสามารถในการส่งออก ทั้งนี้การบริหารจัดการอุปทานสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับไทยมากขึ้นในภาวะวิกฤตอาหารโลก

§ การบริหารจัดการอุปทานสินค้าเกษตรในประเทศควรครอบคลุมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำและครอบคลุมทุกภาคส่วนทั้งการพัฒนาภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับสินค้าเกษตรและภาคการขนส่ง โดยในระยะสั้นไทยควรจะอาศัยโอกาสที่ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นหันมาพัฒนาภาคเกษตรของไทยอย่างจริงเพื่อรักษาอุปทานของสินค้าเกษตรในประเทศที่นับวันจะเผชิญกับปัจจัยคุกคามมากขึ้น ส่วนระยะยาวไทยควรให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงานโดยกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอุปทานสินค้าเกษตรของประเทศทั้งระยะสั้น กลางและยาวควบคู่กับการรักษาสถานะการเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรของโลกโดยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของไทยในการเพิ่มอำนาจต่อรองกับประเทศต่างๆ บนเวทีเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ