Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มิถุนายน 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เวียดนามเผชิญปัจจัยเสี่ยง … เงินเฟ้อพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ กระทบขีดความสามารถทางการแข่งขัน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2185)

คะแนนเฉลี่ย

เวียดนามเผชิญกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อที่ทะยานสูงขึ้นในปี 2551 โดยเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2551 พุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 25.2 จากร้อยละ 21.4 ในเดือนเมษายน 2551 ส่งผลให้ต้นทุนค่าจ้างแรงงานในเวียดนามมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะบั่นทอนบรรยากาศด้านการลงทุนและการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนาม ประกอบค่าเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงมากเป็นประวัติการณ์ที่ 16,255 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 2 มิถุนายน 2551 แต่หากพิจารณาเทียบกับค่าเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2550 คิดเป็นอ่อนค่าลงร้อยละ 1.5 การอ่อนค่าของเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ยังไม่มากนัก เนื่องจากทางการเวียดนามกำหนดให้ค่าเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นลงในกรอบแคบๆ ระหว่างวัน ทำให้ค่าเงินด่องในปัจจุบันยังไม่สะท้อนค่าเงินที่แท้จริงของเวียดนามในภาวะที่เวียดนามประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง ทำให้คาดว่าค่าเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นอีก ทำให้นักลงทุนต่างชาติรวมทั้งนักลงทุนไทยมีแนวโน้มชะลอการลงทุนในเวียดนามเพื่อรอให้ค่าเงินด่องอ่อนค่ามากขึ้น เพื่อประโยชน์จากมูลค่าการลงทุนในเวียดนามในรูปสกุลเงินด่องที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้

ภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงทำให้คาดว่าทางการเวียดนามจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และจากปัจจัยต่างๆ ที่กดดันเศรษฐกิจเวียดนามในขณะนี้ คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 7.0 ในปีนี้จากที่เติบโตร้อยละ 8.5 ในปี 2550 ซึ่งถือว่าจะเป็นปีแรกที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามต่ำกว่าร้อยละ 8.0 จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2548-2550) ที่เติบโตเกินร้อยละ 8.0 มาโดยตลอด สำหรับนักลงทุนไทยนั้น คาดว่า นักลงทุนที่มีแผนจะเข้าไปลงทุนในเวียดนามควรรอดูประเด็นด้านเสถียรภาพของเงินเฟ้อและอัตราค่าจ้าง รวมทั้ง เงินด่องที่น่าจะยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ