Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กรกฎาคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ประเด็นร้อนการประชุม G8 ปี 2008: ปัญหาเศรษฐกิจโลกและภาวะโลกร้อน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ (2219)

คะแนนเฉลี่ย

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 8 ชาติ(จี-8) ปี 2008 ที่ญี่ปุ่น ระหว่าง 7-9 กรกฎาคม 2551 ใน 2 วันแรกเป็นการประชุมเฉพาะผู้นำจากกลุ่มจี-8 วันสุดท้ายผู้นำจากประเทศนอกกลุ่มอีก 15 ชาติจะเข้าร่วมประชุมในวาระโลกร้อนและปัญหาความยากจน การประชุมครั้งนี้ต้องการหารือเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาการเมืองโลก ทั้งนี้ปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวใจสำคัญของการประชุมครั้งนี้ และจะออกมาตรการการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกได้โดยเฉพาะปัญหาราคาอาหารแพงอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนภาวะโลกร้อนจะไม่คืบหน้ามากนัก ทั้งนี้ยังมีประเด็นหรือปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดดังนี้

ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันมีสาเหตุจากราคาน้ำมันและอาหารพุ่งสูง ส่งให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่คุกคามเสถียรภาพของโลกและส่งผลระยะยาวต่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ผู้นำประเทศต่างๆ มีข้อเสนอให้ตั้งคณะทำงานด้านวิกฤตอาหาร เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออกอาหารรวมถึงการสำรองอาหารระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้นำกลุ่มจี-8 ต่างมีท่าทีหลากหลายต่อประเด็นดังกล่าว อาทิ ญี่ปุ่นผลักดันให้ประเทศสมาชิกจี-8 ดำเนินนโยบายชุมชนคาร์บอนต่ำแต่สหรัฐอเมริกาท่าทีต่อต้านอย่างหนัก

คะแนนความนิยมตกต่ำหรืออยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนทางการเมืองของผู้นำจี-8 ทำให้ผู้นำแต่ละประเทศมีท่าทีระมัดระวังต่อการประกาศมาตรการที่อาจกระทบกับคะแนนเสียงในประเทศของตน

บทบาทของจี-8 เริ่มอ่อนกำลังลงและอาจจะเปิดรับสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการขยายสมาชิกภาพยังไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้ จากเสียงคัดค้านของญี่ปุ่นและประเด็นการลงมติเป็นเอกฉันท์

แนวคิดและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันอาจเป็นอุปสรรคต่อการประชุมได้แก่ ท่าทีปกป้องทางการค้าของประเทศเกิดใหม่เช่น บราซิล อินเดีย ที่ไม่สอดคล้องกับกลุ่มจี-8 เดิมที่ต้องการให้เปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มที่ หรือการเรียกร้องให้ลดการใช้พลังงานหรือหาพลังงานทดแทนจากเหตุผลด้านความมั่นคงด้านพลังงานอาจทำให้รัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลกไม่ตอบรับ

นัยยะต่อไทย

การแก้ปัญหาวิกฤตอาหารของจี-8 สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์อาหารโลกอย่างแท้จริง ไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายสำคัญของโลกอาจได้ประโยชน์จากการลดอุปสรรคทางการค้าของสินค้าอาหารและเกษตรเพิ่มขึ้น การสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรรวมถึงการให้เงินอุดหนุนประเทศกำลังพัฒนายกระดับการผลิตจะทำให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแนวทางดังกล่าวเพื่อต่อยอดการพัฒนาสินค้าอาหารและเกษตรของไทยให้ได้ผลผลิตและคุณภาพเพิ่มขึ้น สำหรับมาตรการเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปพยายามผลักดันมาโดยตลอดและมีการออกมาตรการเหล่านี้เพิ่มขึ้น ทางหนึ่งอาจเพิ่มภาระให้กับผู้ส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป แต่อีกด้านหนึ่งการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามกระแสความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบันจะเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มความสามารถแข่งขันได้

ประเด็นที่น่าจับตาคือ การเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิกของกลุ่มจี-8 เนื่องจากอิทธิพลของประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่มีต่อสังคมโลกเช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ประเทศพัฒนาจากเอเชียอย่างจีน อินเดียหรืออินโดนีเซีย ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ามานานและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความร่วมมือทางการค้าการลงทุนตลอดจนการพัฒนาในกรอบความร่วมมือระดับต่างๆ การเปิดรับสมาชิกใหม่ที่มีประเทศจากเอเชียเข้าไปเพิ่มขึ้นประกอบกับความพยายามของจีนที่จะแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้อาจมีความเป็นไปได้ว่า การตัดสินใจของจีนและประเทศกำลังพัฒนาจากเอเชียจะทำให้ประเทศในภูมิภาคเดียวกันได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ