Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 กรกฎาคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2/2551 ชะลอตัวเหลือ 10.1% จับตาส่งออก & เงินเฟ้อ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ (2230)

คะแนนเฉลี่ย

- การขยายตัวของการส่งออกของจีนซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญต้องประสบภาวะชะลอตัวลงในเดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่กดดันให้อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ชะลอลงเหลือร้อยละ 10.1 จากที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 ในไตรมาสแรกของปีนี้ และมีแนวโน้มว่าการส่งออกของจีนจะชะลอลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เนื่องจากปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อไปยังสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศเอเชียที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของจีน ประกอบกับค่าเงินหยวนที่อยู่ในระดับแข็งค่าต่อเนื่องทำให้สินค้าส่งออกของจีนแข่งขันด้านราคาได้น้อยลง

- ภาวะเงินเฟ้อของจีนยังคงมีแรงกดดันให้ทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าเงินเฟ้อที่วัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 8.5 (yoy) ในเดือนเมษายน เป็นร้อยละ 7.7 และร้อยละ 7.1 ในเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน 2551 ตามลำดับ แต่เงินเฟ้อด้านอุปทานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่สูงขึ้นจากร้อยละ 8.1 ในเดือนเมษายน เป็นร้อยละ 8.2 และร้อยละ 8.8 ในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2551 ตามลำดับ ทำให้คาดว่าเงินเฟ้อด้านอุปทานที่กดดันต้นทุนการผลิตในจีนให้สูงขึ้นอาจส่งต่อราคาไปยังอัตราเงินเฟ้อของจีน (CPI) ให้ทรงตัวอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อของจีนในปี 2551 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.5-7.0 สูงขึ้นจากร้อยละ 4.8 ในปี 2550

- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าแม้ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2551 ต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่ายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่เศรษฐกิจภายในจีนทั้งภาคการบริโภคและภาคการลงทุนที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีกสินค้าและบริการ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และเงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจจีน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้ยังคงขยายตัวได้ราวร้อยละ 9.9

สำหรับการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะเติบโตต่อเนื่องในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 จากที่ขยายตัวร้อยละ 28.8 ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ และร้อยละ 26.5 ทั้งปี 2550 เนื่องจากภาคเศรษฐกิจภายในของจีนที่ยังคงเติบโตได้ดี ประกอบกับทางการจีนมีนโยบายใช้จ่ายสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง

- ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร (กสิกรรม ปศุสัตว์ และประมง) ของไทยไปจีนน่าจะขยายตัวต่อเนื่อง จากในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ที่มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปจีนขยายตัวอัตราเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 16.9 และเทียบกับทั้งปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 8 เนื่องจากในปี 2551 นี้ จีนประสบภัยธรรมชาติหลายครั้ง ทำให้อุปทานสินค้าเกษตรและสินค้าหมวดอาหารลดลง ส่งผลให้ทางการจีนต้องปรับลดภาษีนำเข้าสุกรจากร้อยละ 12 เหลือร้อยละ 6 รวมทั้งปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2 และน้ำมันมะพร้าว/น้ำมันมะกอกจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 5 เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารและสุกรให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ คาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าเกษตรและอาหารส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัวได้ดีในตลาดจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยไปจีนโดยรวมในปีนี้มีแนวโน้มยังคงเติบโตต่อเนื่อง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ