Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กรกฎาคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจเวียดนามปี 2551… ภาวะเงินเฟ้อ & ขาดดุลการค้าพุ่งสูง : ผลต่อธุรกิจไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2085)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2551 ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากเสถียรภาพด้านราคาจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและมูลค่าขาดดุลการค้าที่พุ่งสูงที่ส่งผลต่อไปยังดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจกดดันต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจเวียดนามในที่สุด แต่การที่ทางการเวียดนามดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ได้แก่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงและการควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อไม่ให้เกินร้อยละ 30 จากปี 2550 มีอัตราขยายตัวร้อยละ 54 รวมถึงมาตรทางการคลังที่ตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐและลดโครงการลงทุนของวิสาหกิจภาครัฐ คาดว่าจะชะลอภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นถึงร้อยละ 26.8 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผลของนโยบายการคลังข้างต้นที่ชะลอการลงทุนคาดว่าจะช่วยให้อัตราขยายตัวการนำเข้าของเวียดนามชะลอลงโดยเฉพาะสินค้าทุน ซึ่งจะบรรเทายอดขาดดุลการค้าของเวียดนามในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากในช่วงครึ่งปีแรกที่มูลค่าขาดดุลการค้าพุ่งขึ้นเป็น 14.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนภาคส่งออกของเวียดนามคาดว่ายังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากเงินด่องที่อ่อนค่าลง ซึ่งดุลการค้าของเวียดนามที่ปรับตัวดีขึ้นจะส่งผลให้แรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มลดลงและเพิ่มเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2551 คาดว่าจะชะลอลงเหลือร้อยละ 6.5-7.0 จากร้อยละ 6.5 ในช่วงครึ่งปีแรก และร้อยละ 8.5 ในปี 2550 ส่วนเงินเฟ้อของเวียดนามคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 20-22 จากร้อยละ 20.4 ในช่วงครึ่งปีแรก และร้อยละ 8.3 ในปี 2550

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุนกับเวียดนามจะได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบจากสถานการณ์ของเศรษฐกิจเวียดนาม ดังนี้

Fผลบวก

- นักลงทุนไทยในเวียดนามอาจได้รับผลดีจากมูลค่าเงินลงทุนในรูปเงินด่องที่สูงขึ้นจากการที่ค่าเงินด่องอ่อนค่า แต่ผลดีดังกล่าวอาจถูกบั่นทอนจากผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงราวร้อยละ 20 ส่งผลให้ค่าแรงงาน ค่าขนส่งและค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น

- นักธุรกิจไทยในเวียดนามที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกจะได้รับผลดีจากค่าเงินด่องอ่อนค่าทำให้สินค้าส่งออกมีราคาถูกลงในสายตาผู้บริโภคต่างประเทศ ส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาปรับตัวดีขึ้น และยังได้ผลดีจากรายได้ส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แลกเป็นเงินสกุลด่องมีมูลค่าสูงขึ้น แต่เช่นเดียวกัน ผลดีนี้อาจถูกหักลบจากต้นทุนการผลิตในเวียดนามที่ปรับตัวสูงขึ้นภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง

- ธุรกิจภาคท่องเที่ยวไทยในเวียดนาม เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีกน่าจะได้ประโยชน์เงินด่องอ่อนค่าลง เนื่องจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเวียดนามที่เป็นเงินด่องถูกลง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเวียดนามเพิ่มขึ้น

F ผลกระทบ

- ธุรกิจไทยในเวียดนามที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ (เช่น Trading Firm) หรือนักลงทุนที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนามโดยจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลาง รวมถึงสินค้าทุน ต้องประสบภาวะต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น เนื่องจากค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลง

- ธุรกิจไทยที่เน้นตลาดภายในเวียดนามอาจได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อของคนเวียดนามที่ลดลงจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการลดลงตามไปด้วย

ผู้ส่งออกไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันกับสินค้าส่งออกจากเวียดนามในตลาดประเทศที่สาม เนื่องจากขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของเวียดนามที่ดีขึ้นจากอานิสงส์ของค่าเงินด่องที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้าส่งออกของเวียดนามถูกลงในสายตาผู้นำเข้าต่างประเทศ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าผู้ผลิตในเวียดนามสามารถบริหารจัดการและควบคุมต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในภาวะที่เกิดเงินเฟ้อด้านอุปทานไม่ให้ส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ