Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 สิงหาคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ทิศทางเศรษฐกิจจีนหลังโอลิมปิก 2008 : ปรับโครงสร้างเพื่อเติบโตอย่างสมดุล (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2091)

คะแนนเฉลี่ย

การเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกของจีนในระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 ณ กรุงปักกิ่ง ได้แสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงศักยภาพของจีนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำที่จะมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมของจีนสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกโดยใช้งบประมาณ 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ สิ่งปลูกสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คาดว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาวในช่วงหลังงานกีฬาโอลิมปิก เนื่องจากสนามกีฬา/สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับงานโอลิมปิกครั้งนี้สามารถใช้ประโยชน์และรองรับการจัดงานระหว่างประเทศและงานระดับโลกอื่นๆ ของจีนต่อไป จากที่ก่อนหน้านี้การใช้จ่ายต่างๆ ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2546 ที่จีนได้เริ่มก่อสร้างเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิก

นอกจากนี้ รายได้จากภาคท่องเที่ยวในปักกิ่งที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะมีจำนวนราว 4.5 แสนคนในช่วงโอลิมปิก รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกราว 150 ล้านคนที่คาดการณ์ว่าจะเดินทางเข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬาในช่วงโอลิมปิกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปักกิ่งในปีนี้ให้ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากที่เติบโตร้อยละ 12.3 ในปี 2550 อีกทั้งยังคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและชาวจีนจำนวนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการเดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงการแข่งขันกีฬาเนื่องจากความแออัดของนักท่องเที่ยวและข้อจำกัดด้านที่พักในช่วงงานโอลิมปิก จึงวางแผนเดินทางมาท่องเที่ยวหลังงานโอลิมปิกครั้งนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปักกิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในจีนโดยรวมในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 140 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากจำนวน 132 ล้านคน ในปี 2550 สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในปักกิ่งและพื้นที่ใกล้เคียงที่สร้างขึ้นสำหรับงานโอลิมปิก เช่น ระบบขนส่ง และสาธารณูปโภคต่าง ๆ จะสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีนในระยะยาวด้วย ซึ่งปัจจัยหนุนต่างๆ เหล่านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะรักษาอัตราการขยายตัวในระดับ 2 หลักได้ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10 ในปีนี้

รายจ่ายเพื่อการลงทุนของจีนในการจัดงานกีฬาโอลิมปิกข้างต้นซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว สอดคล้องกับแนวทางการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างร้อนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนถึงปัญหาหลายด้านที่อาจส่งผลทางลบต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของจีน ได้แก่ ช่องว่างการกระจายรายได้ของคนในเมืองและคนในภาคชนบท ความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ติดทะเลภาคตะวันออกและภาคกลาง การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างสิ้นเปลืองส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเศรษฐกิจจีนในปีนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านจากทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างสมดุล ได้แก่

ðการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการส่งออก โดยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมภาคบริการ การยกระดับสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเน้นขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ

ðส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยสารพิษ (emission) และการปกป้องสิ่งแวดล้อม

ðการปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน ส่งเสริมการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน และสร้างความสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ติดทะเลทางตะวันออกและทางใต้กับพื้นที่ตอนในของจีน

สำหรับประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เศรษฐกิจจีนที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพย่อมส่งผลดีต่อไทยด้วย ในฐานะที่จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น สำหรับประเด็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนนั้นน่าจะสะท้อนถึงการพิจารณาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคส่งออกในระดับสูงคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 65 ของ GDP ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศค่อนข้างสูง การหันมาพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งภาคลงทุนและการบริโภค รวมถึงการยกระดับรายได้ของประชาชนและสร้างมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในและช่วยลดแรงกดดันจากปัจจัยลบภายนอกประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น Ò

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ