Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 กันยายน 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ทิศทางเศรษฐกิจมาเลเซียในครึ่งปีหลัง 2551...ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2100)

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์ทางการเมืองของมาเลเซียที่พลิกผันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาเลเซียหลังชัยชนะของนายอันวาร์ อิบราฮิมผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซียในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมาได้สร้างความไม่แน่นอนทางการเมืองและอาจจะเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจมาเลเซียที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมาเลเซียอาจจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกับมาเลเซียโดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ของไทย

เศรษฐกิจมาเลเซียปี 2551 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคโดยจะขยายตัวราวร้อยละ 5.5 แม้ว่าในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวถึงร้อยละ 6.7 ต่อปี แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองในประเทศและปัญหาเงินเฟ้อ โดยอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในประเทศซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมาเลเซียในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียสามารถเดินต่อไปได้ ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของมาเลเซียที่ชะลอตัวประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันขาลงอาจจะทำให้การส่งออกของมาเลเซียในครึ่งปีหลังลดลงทั้งในเชิงมูลค่าและปริมาณ แม้ปัญหาเงินเฟ้อจากราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาเลเซียในครึ่งปีแรกมากนักเพราะมาเลเซียสามารถผลิตน้ำมันได้เองและให้การอุดหนุนราคาน้ำมันค่อนข้างสูง แต่ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงหลังการใช้นโยบายลดการอุดหนุนราคาพลังงานในไตรมาสที่ 2 น่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของเอกชนในครึ่งปีหลัง สำหรับความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในมาเลเซียในระยะสั้น แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของมาเลเซียยังคงเป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญ

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปี 2551 อาจจะส่งผลกระทบต่อด้านลบประเทศไทยในบางส่วนเช่น ด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยกับมาเลเซีย การท่องเที่ยวของคนมาเลเซียในประเทศไทย ผลประกอบการของนักลงทุนไทยในมาเลเซียรวมถึงแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในมาเลเซียโดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร สปาและธุรกิจนวดแผนไทย อย่างไรก็ตาม บางส่วนไทยก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเช่น การค้าชายแดนไทย-มาเลเซียที่มีการพึ่งพาการค้าระหว่างกันสูงรวมถึงแรงงานไทยที่ทำงานในภาคเกษตรของมาเลเซียโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันที่ได้รับอานิสงค์จากราคาที่พุ่งสูง นอกจากนี้การดำเนินมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าหลายรายการของมาเลเซียในปลายปีนี้น่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย ส่วนปัญหาการเมืองในประเทศของมาเลเซียที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาเลเซียน่าจะยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยในระยะสั้น แต่หากการเมืองของมาเลเซียยังคงไม่ชัดเจนน่าจะทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลง นอกจากนี้อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในระยะแรกบ้าง แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมทั้งทำเลที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่พร้อมเพรียงของมาเลเซียน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังคงดึงดูดความสนใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในมาเลเซีย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ