Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 กันยายน 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเงินสำรองธนาคาร : สู้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2102)

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกและวิกฤตภาคการเงินในสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่จบสิ้นซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของจีนอย่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ส่งผลให้ภาคส่งออกของจีนชะลอตัวลงด้วย โดยการส่งออกของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ชะลอลงเหลือร้อยละ 21.1 (yoy) จากที่ขยายตัวร้อยละ 26.9 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าของจีนในเดือนสิงหาคมก็ชะลอลงค่อนข้างมาก โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 23.1 จากร้อยละ 33.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งการชะลอตัวของทั้งภาคส่งออกและนำเข้าของจีนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจภายในด้วย โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 12.8 จากที่เติบโตร้อยละ 14.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน

ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็ต้องเผชิญกับภาวะขาลง โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ของจีนชะลอตัวลงหลังจากที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมานี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองสำคัญ 70 เมืองของจีนมีอัตราเติบโตชะลอลงเป็นร้อยละ 5.3 (yoy) จากที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับปัญหาภาคการเงินของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ หลายแห่งจนทำให้เกิดวิกฤตสินเชื่อในภาคการเงินโลก ซึ่งอาจทำให้บริษัทลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนต้องขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองอยู่ออกไปเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนตกลงอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ภายในของจีนให้ชะลอตัวลงไปด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้

ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อของจีนมีสัญญาณชะลอลง โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ซึ่งเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากที่พุ่งสูงสุดในรอบ 12 ปีที่ร้อยละ 8.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอลงทำให้ทางการจีนสามารถดำเนินนโยบายรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจภายในจากทั้งภาคการบริโภคและการลงทุนให้ดำเนินต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็ดำเนินมาตรการลดผลกระทบของภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงด้วย เพื่อรักษาอัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2551 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าหากจำเป็นทางการจีนก็คงจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น รวมทั้งใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากที่ได้ทยอยออกมาตรการหลายด้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การปรับขึ้นภาษีคืนกับภาคส่งออก (Tax Rebate) ขยายโควตาปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และล่าสุดในวันที่ 15 กันยายน 2551 ทางการจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นโยบายระยะ 1 ปีลงร้อยละ 0.27 จากร้อยละ 7.47 เป็นร้อยละ 7.20 และปรับลดเงินสดสำรองของธนาคาพาณิชย์ (Reserve Requirement Raito : RRR) ลงร้อยละ 1 จากร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 16.5 เพื่อผ่อนคลายภาวะสินเชื่อตึงตัวที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในจีน ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้ของทางการจีนที่ออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2551 นี้น่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องได้ในอัตราร้อยละ 9.8-10.0 จากช่วงครึ่งแรกของปีที่เติบโตร้อยละ 10.4

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ