Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 กันยายน 2551

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขส่งออกเดือนสิงหาคม 2551 ... ชะลอตัวลงกว่าที่คาด สร้างความกังวลต่อแนวโน้มการส่งออกในระยะเวลาที่เหลือของปี (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2293)

คะแนนเฉลี่ย

นวันที่ 19 กันยายน กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนสิงหาคม 2551 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

§ จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2551 มีอัตราการขยายตัวชะลอลงกว่าที่คาด อยู่ที่ร้อยละ 14.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากที่ขยายตัวร้อยละ 43.9 ในเดือนกรกฎาคม) โดยมีมูลค่า 15,887.6 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะเดียวกัน การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 26.9 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 55.1 ในเดือนกรกฎาคม) โดยมีมูลค่า 16,669.1 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งแม้ว่าชะลอตัวลงเช่นกัน แต่ก็เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าการส่งออกค่อนข้างมาก ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนนี้ขาดดุล 781.5 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล 1,026.91 ล้านดอลลาร์ฯ และเป็นการขาดดุลรายเดือนครั้งที่ 5 ของปีนี้

§ สัญญาณการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างมากในเดือนสิงหาคม ทำให้แนวโน้มการส่งออกในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้มีความน่ากังวลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหลังจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีปัจจัยลบหลายด้านที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยในด้านปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมีผลทำให้การส่งออกสินค้าบางส่วนมีความล่าช้า รวมทั้งคู่ค้าชาวต่างชาติที่มีแผนการเข้ามาติดต่อทางการค้าในประเทศไทยอาจเลื่อนแผนเจรจาธุรกิจออกไป แต่ผลกระทบของปัจจัยทางการเมืองอาจมีไม่มากเท่ากับปัจจัยในต่างประเทศ ทั้งปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐฯ และสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยในประเทศญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆทั่วโลก ปัจจัยดังกล่าวอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่การส่งออกมักจะมีระดับที่สูงขึ้นตามคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อที่จะวางขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ นอกจากนี้ ตัวเลขส่งออกในไตรมาสที่ 4 ยังต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ซึ่งการส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24 ขณะเดียวกัน แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ่อนตัวลงก็น่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกของสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม น้ำมัน และโลหะพื้นฐาน

§ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ถ้าเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ยังมีทิศทางชะลอตัวรุนแรงดังที่ปรากฏสัญญาณในปัจจุบัน อาจส่งผลให้การส่งออกในไตรมาสที่ 4 มีอัตราการขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 10-15 ขณะที่ถ้าเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาลงอย่างหนัก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวลดลง อาจเห็นตัวเลขส่งออกที่เป็นตัวเลขหลักเดียวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี อย่างไรก็ตาม จากการขยายตัวสูงของการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ น่าจะช่วยให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวของการส่งออกตลอดทั้งปี 2551 นี้ ยังมีระดับใกล้เคียงร้อยละ 20 ยังคงสูงกว่าในปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 17.3

แม้ในปี 2551 นี้ การส่งออกของไทยน่าจะยังรักษาระดับอัตราการเติบโตที่สูงได้ แต่ความท้าทายของการส่งออกของไทยจะอยู่ที่ปี 2552 ซึ่งการส่งออกมีโอกาสเผชิญกับการชะลอตัวจากทั้งด้านปริมาณและราคา เนื่องจากหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคหลักต่างๆ จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในปีหน้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ก็คงจะไม่ปรับเพิ่มมากเหมือนกับปี 2551 ที่ผ่านมา โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการอาจหดตัวลงได้ ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงควรหาแนวทางรับมือกับแนวโน้มการส่งออกที่อาจชะลอตัวลงอย่างมากในปีข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย