Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 ตุลาคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

มาตรการช่วยเหลือตลาดตราสารเพื่อการพาณิชย์ของสหรัฐฯ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2313)

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์ตึงตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลกในขณะนี้ เป็นสภาวะที่สามารถสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความไร้เสถียรภาพในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ตลอดจนความอ่อนแอของฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินที่ยังคงมีแนวโน้มเลวร้ายลงไปอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก และทำให้นักลงทุนยังคงหลีกเลี่ยงการแบกรับความเสี่ยงท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเงินในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบ 80 ปี ทั้งนี้ ปัญหาสภาพคล่องที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องนำไปสู่ภาวะหดตัวอย่างหนักของตลาดตราสารเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนระยะสั้นที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจของสหรัฐฯ และในที่สุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จำต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกอีกครั้ง ด้วยการเข้าไปรับซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูกระแสการไหลเวียนของสินเชื่อสู่ภาคธุรกิจ และหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการล่าสุดของเฟดในการรับซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์นี้ นับเป็นมาตรการเฉพาะกิจอีกมาตรการหนึ่งของเฟด ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องจากมาตรการด้านสภาพคล่องที่เฟดออกมาเพื่อให้ความช่วยเหลือกับสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยมาตรการรับซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์ดังกล่าว มีเป้าหมายที่จะแก้ไขสภาวะที่ผิดปกติของตลาดตราสารเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งเป็นแหล่งระดมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบกิจการของภาคธุรกิจ โดยมาตรการดังกล่าวอาจสามารถบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาดตราสารเพื่อการพาณิชย์ลง ลง ซึ่งด้านหนึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนในการระดมทุนของภาคธุรกิจปรับลดลง และอีกด้านหนึ่งก็จะช่วยฟื้นฟูให้วงจรของสินเชื่อผ่านตลาดดังกล่าวสามารถไหลเวียนกลับไปสู่ภาคธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่สามารถเชื่อมั่นได้ว่า มาตรการนี้จะสามารถช่วยทำให้ตลาดตราสารเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์ สมบูรณ์ เนื่องจากนักลงทุนหลายกลุ่มยังคงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแอ ซึ่งสถานการณ์นี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดสินเชื่อยังคงต้องประสบปัญหาต่อไปอีกระยะหนึ่ง และนั่นก็หมายความว่า มาตรการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอื่นๆ ในภาคการเงินของสหรัฐฯ อาจถูกผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป ซึ่งก็จะนำไปสู่บทสรุปว่า วิกฤตการเงินซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 80 ปีในรอบนี้นั้น ได้สร้างภาระทางการคลังให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นมูลค่ามหาศาล ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็จำต้องมีหน้าที่ในการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินสหรัฐฯ ในขอบเขตที่กว้างมากขึ้น ในท้ายที่สุด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ