Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 ตุลาคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จับตาเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว : กระทบการส่งออกไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2318)

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะวิกฤตเศรษฐโลกและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2551 โดยคาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นน่าจะปรับลดลงเป็นร้อยละ 0.8 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2550 ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นชะลอด้วย เนื่องจากความอ่อนแรงของการบริโภคและการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น คาดว่าสินค้าส่งออกไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นประสบภาวะถดถอยในปี 2544 ที่สินค้าส่งออกไทยไปญี่ปุ่นชะลอลง ที่สำคัญได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นเหล่านี้จะชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อ่อนแรงลงในปีนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกในกลุ่มสินค้าอาหาร อาทิ กุ้งแปรรูปและอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าอาหารยังมีความต้องการจากผู้บริโภคภายในประเทศและสินค้าไทยยังได้รับประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ JTEPA อีกทั้งยังมีปัจจัยจากค่าเงินเยนที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาทตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 ทำให้เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น

ทั้งนี้คาดว่า การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2551 น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 10-12 ชะลอลงจากช่วง 8 เดือนแรกของปีที่เติบโนร้อยละ 16 ซึ่งเป็นโจทย์อันท้าทายสำหรับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการและนโยบายในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าการส่งออกสินค้าไทยไปยังญี่ปุ่นในปี 2552 ว่าน่าจะขยายตัวร้อยละ 8 ขณะที่ได้ตั้งเป้าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปสู่ทั่วโลกในอัตราร้อยละ 15 ในปี 2552

นอกจากการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออก ทางบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการไทยควรกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบทางการค้า โดยผู้ประกอบการไทยควรบริหารความเสี่ยงทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนของค่าเงินบาทโดยการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Exchange) อีกทั้งผู้ประกอบการไทยอาจมองหาตลาดเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพและกำลังการซื้อสูงอาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศที่กำลังพัฒนาในทวีปเอเชียที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างจีนและอินเดียเป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐบาลไทยควรจับตาดูปัญหาที่อาจเกิดจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในช่วงที่เหลือของปี 2551 และปี 2552

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ