Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 ตุลาคม 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ชะลอตัวเหลือ 9% ... ต่ำสุดในรอบ 5 ปี : ปัจจัยลบจากวิกฤตการเงินโลก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2326)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 นี้เติบโตเหลือตัวเลขหลักเดียวที่ร้อยละ 9.0 เป็นอัตราชะลอตัวติดต่อกัน 5 ไตรมาสของจีน และเป็นอัตราขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้เติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 9.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ต้นตอจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงมากขึ้นที่มีสาเหตุจากวิกฤตภาคการเงินโลกที่ส่งผลกระทบให้เกิดสภาพล่องตึงตัวไปทั่วโลก และกระทบไปถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศต่างๆ ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีนให้ชะลอตัวลงไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อภาคส่งออกของจีนที่ชะลอลง รวมถึงเศรษฐกิจภายในของจีนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่อ่อนแรงลงด้วย โดยการส่งออกของจีนในเดือนกันยายน 2551 นี้ ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีอัตราเติบโตราวร้อยละ 21 ใกล้เคียงกับเดือนสิงหาคม เทียบกับช่วง 7 เดือนแรกก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 26.8 (yoy) ส่วนการนำเข้าของจีนในเดือนกันยายนก็ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก โดยการนำเข้าในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเติบโตร้อยละ 20.9 (yoy) เทียบกับการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 30 (yoy)

การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนนี้ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าลงมาเหลือร้อยละ 11.4 (yoy) จากที่เติบโตร้อยละ 12.8 ในเดือนสิงหาคม 2551 (yoy) ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรโดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกและภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ประสบภาวะอ่อนแรงลงเช่นกัน นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติดึงเงินลงทุนออกจากตลาดหลักทรัพย์จีนเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินที่กำลังตึงตัว ทำให้ความมั่งคั่งของนักลงทุนจีนลดลงซึ่งส่งผลซ้ำเติมต่อภาคการบริโภคและการลงทุนในจีนให้ชะลอลงด้วย

สัญญาณเงินเฟ้อของจีนวัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภคได้ชะลอลงเหลือร้อยละ 4.6 ในเดือนกันยายน 2551 และดัชนีราคาผู้ผลิตได้ชะลอลงเหลือร้อยละ 9.1 ในเดือนกันยายน 2551 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ชะลอตัวลงตามภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ทางการจีนสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้มากขึ้น โดยคาดว่าทางการจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้และลดอัตราเงินสำรองของธนาคาพาณิชย์ด้วย เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินและช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจปรับลดลง รวมถึงมาตรการทางการคลังที่เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐมากขึ้น และใช้มาตรการทางภาษีกระตุ้นภาคส่งออกและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในภาวะชะลอตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เงินสำรองต่างประเทศของจีนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกราว 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2551 ขณะที่จีนมีดุลงบประมาณที่เกินดุล ทำให้ทางการจีนสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวในขณะนี้ได้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของทางการจีนคาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 นี้ไม่ให้ชะลอตัวลงมากนัก ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนทั้งปี 2551 น่าจะเติบโตได้ในอัตราต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 9.7 แม้ว่าจะชะลอลงจากที่เติบโตร้อยละ 11.9 ในปี 2550 ซึ่งเศรษฐกิจจีนที่เติบโตได้ต่อเนื่องจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเอเชียและไทยให้ขยายตัวต่อไปได้ผ่านแรงขับเคลื่อนของภาคส่งออกไปจีน

ความต้องการนำเข้าของจีนที่ชะลอลงตามภาวะซบเซาของภาคส่งออก ทำให้ประเทศเอเชียและไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนต้องประสบปัญหาภาคส่งออกไปจีนที่ชะลอลงด้วย สำหรับประเทศไทย การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเติบโตชะลอลงเป็นเลขหลักเดียวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จาก 7 เดือนก่อนหน้านี้ที่เติบโตเป็นเลข 2 หลักมาโดยตลอด โดยการส่งออกในเดือนกันยายนเติบโตร้อยละ 6.1 (yoy) ในขณะที่การส่งออกในเดือนสิงหาคมเติบโต ร้อยละ 1.4 (yoy) ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ชะลอลงเหลือร้อยละ 22.37 เทียบกับช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ที่ขยายตัวร้อยละ 29 และในปี 2550 ที่การส่งออกของไทยไปจีนเติบโตร้อยละ 26.38 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนในเดือนกันยายน 2551 ที่มีมูลค่าส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ โดยมีอัตราลดลงร้อยละ 14.3 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 39.1 ตามลำดับ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ