Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 พฤศจิกายน 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ’51: นโยบายเศรษฐกิจ&การค้ากับผลกระทบต่อไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2113)

คะแนนเฉลี่ย

ความรุนแรงของวิกฤตการเงินที่ได้ส่งผลกระทบไปสู่ภาคเศรษฐกิจและทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 และปี 2552 ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวอเมริกันเป็นอย่างมากและนับเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาจะต้องพยายามแก้ไขปัญหาก่อนที่ระบบการเงินของสหรัฐอเมริกาจะพังทะลายลง ในช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่มีความเป็นไปได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่น่าจะยังคงดำเนินตามมาตรการต่างๆ ที่ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในสมัยของประธานาธิบดีบุชโดยเฉพาะการเข้ามาแก้ไขปัญหาในภาคการเงิน อย่างไรก็ตามคาดว่า ประธานาธิบดีคนใหม่คงจะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบต่อภาคประชาชนตามที่ได้หาเสียงไว้ในช่วงก่อนหน้า สำหรับผลกระทบของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นดังนี้

ความต้องการสินค้านำเข้าของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยจากไทยน่าจะปรับตัวลงเพราะปัจจัยลบจากปัญหาการขาดดุลแฝดและอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดภาษีของโอบามาอาจจะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคให้กับประชาชนได้มากนัก เพราะรายจ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของโอบามามูลค่ามหาศาลน่าจะทำให้คนอเมริกันคาดการณ์ว่า โอบามาอาจจะขึ้นภาษีเพื่อนำเงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณจึงเลือกที่จะถือเงินไว้เตรียมรับมือในอนาคต

การส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบจากการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นซึ่งอาจกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง(เมื่อปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลง) โดยจะทำให้ค่าเงินบาทของไทยอาจจะแข็งขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดสหรัฐอเมริกามีราคาแพงขึ้น ส่วนทางอ้อมคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวลดลงจะทำให้เงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นและจะทำให้ราคาสินค้าส่งออกของจีนในตลาดสหรัฐอเมริกามีราคาแพงขึ้น เมื่อการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลงก็จะทำให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอตัวลงตามไปด้วย

ผู้ประกอบการไทยอาจจะเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งภาษีและมิใช่ภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะฐานเสียงส่วนใหญ่ของพรรคเดโมแครตเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร นอกจากนี้นโยบายปกป้องทางการค้าอย่างเข้มข้นอาจจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยต้องพบกับกฎระเบียบทางการค้าอย่างเข้มงวดและอาจมีความเสี่ยงจากการถูกดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าหรือระงับการนำเข้าสินค้าจากไทยเนื่องจากละเมิดสิทธิแรงงานและปัญหาสิ่งแวดล้อม

การเจรจาความตกลงการค้าเสรีของสหรัฐอเมริกากับไทยอาจจะยืดระยะเวลาออกไปเพราะนายโอบามามีท่าทีคัดค้านการเปิดเสรีอย่างชัดเจนโดยเฉพาะกับประเทศที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าแรง อย่างไรก็ตาม ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันทำให้คาดว่าโอบามาอาจจะผลักดันให้มีการเจรจาความตกลงทางการค้าหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในสหรัฐอเมริกา แต่น่าจะใช้ความตกลงทางการค้าเป็นช่องทางผลักดันให้สินค้าและบริการของสหรัฐอเมริกาสามารถเข้าสู่ตลาดประเทศอื่นได้มากขึ้น

หากมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแรงงานที่พรรคเดโมแครตจะกำหนดเป็นเงื่อนไขทางการค้ามีความเข้มงวดมากและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย อาจจะกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าให้กับผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยเพราะผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นในการยกระดับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าเข้าไปยังตลาดสหรัฐได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ