Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 พฤศจิกายน 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจโลกถดถอย...จับตาธุรกิจ SMEs จีน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2351)

คะแนนเฉลี่ย

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนมูลค่า 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ที่จะดำเนินการจนถึงปี 2553 อาจต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลดังกล่าว โดยคาดว่า ในระยะสั้นนี้ผลกระทบจากสถานการณ์การเงินโลกอาจส่งผลให้ภาคส่งออกของจีนชะลอตัวลงไปอีก สำหรับธุรกิจ SMEs จีนซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจีนต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายจากภาคส่งออกที่ชะลอตัวเนื่องจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลกซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากวิกฤติการเงินของสหรัฐ ฯ การถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ฯ สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น ซึ่งล้วนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ 3 อันดับแรกของจีนกำลังเผชิญกับอำนาจการซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศที่ลดต่ำลงซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs จีนที่เป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญที่ป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาดดังกล่าว ทั้งนี้ กลุ่มสินค้า SMEs จีนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นกลุ่มธุรกิจส่งออกที่ใช้แรงงานมากที่ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นและต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นด้วยจนทำให้ผู้ประกอบการ SMEs จีนจำนวนมากต้องปิดกิจการลงได้แก่ ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและของเล่น เป็นต้น โดยล่าสุดการส่งออกที่ชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปี สะท้อนถึงธุรกิจ SMEs ที่คาดว่ายังคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากภาวะซบเซาของภาคส่งออก

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของธุรกิจ SMEs จีนที่กล่าวมาดังกล่าวข้างต้น อาจบรรเทาลงเนื่องจากทางการจีนได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs จีน โดยการปรับเพิ่มอัตราคืนภาษีส่งออกสำหรับสินค้าหลายประเภทและยกเลิกการจำกัดสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs จีน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน คาดว่า จะส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของจีนในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นก็ดีการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนคงจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยการส่งออกสินค้าของไทยประเภทวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคส่งออกจีน ในขณะเดียวกันสินค้าส่งออกไทยก็อาจต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นกับสินค้าส่งออกของจีนที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านราคาดีขึ้นจากมาตรการเพิ่มอัตราคืนภาษีส่งออกของทางการจีน สำหรับในระยะต่อไปคาดว่า ผู้ประกอบการ SMEs จีนน่าจะปรับปรุงและพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นจากนโยบายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีของทางรัฐบาลจีนที่ต้องการยกระดับสินค้าจีนจากสินค้าราคาถูกไปสู่สินค้าระดับบนที่สร้างมูลค่าของสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ประกอบการ SMEs ไทยอาจต้องประสบกับการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตลาดโลก แต่ทว่าผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่เข้าไปทำตลาดในประเทศจีนอาจใช้โอกาสจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่คาดว่าจะทำให้ภาคบริโภคและการลงทุนในจีนเติบโตต่อไปได้ โดยยึดความต้องการของผู้บริโภคในประเทศจีนเป็นหลักและประยุกต์สินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ก่อนการเข้าบุกตลาดจีนผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรคำนึงถึงปัจจัยด้านลบอาทิ ข้อบังคับและกฎระเบียบต่าง ๆ และ ความแตกต่างของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของจีน เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ