Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 พฤศจิกายน 2551

เศรษฐกิจต่างประเทศ

สูญญากาศนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ... รอความชัดเจนหลังประธานาธิบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2117)

คะแนนเฉลี่ย

อาจสามารถกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึงก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ นายบารัค โอบามา เข้าสาบานตนรับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2552 การพิจารณานโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ ;ภาวะสูญญากาศ” นั่นหมายความว่า ตลาดการเงินและนักลงทุนอาจไม่สามารถคาดหวังได้มากนักว่า จะได้เห็นความชัดเจนของความพยายามในการผลักดันมาตรการแก้ไขเศรษฐกิจที่สำคัญๆ อาทิ แผนการใช้วงเงิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ที่เหลือ (จากแผนกอบกู้ภาคการเงินสหรัฐฯ 7 แสนล้านดอลลาร์ฯ และอนุมัติใช้ไปแล้ว 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในก้อนแรก) แผนกอบกู้อุตสาหกรรมรถยนต์ มาตรการป้องกันการยึดทรัพย์จำนอง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 จากทีมบริหารเศรษฐกิจของทำเนียบขาวชุดเดิม เนื่องจากมาตรการเหล่านั้นอาจต้องเผชิญกับความไม่เห็นชอบจากสภาคองเกรสชุดเก่าที่เสียงระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตยังคงมีความก้ำกึ่ง ขณะที่ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยังสามารถใช้สิทธิในการ ;วีโต้” มาตรการที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทำเนียบขาวได้

สำหรับด้านนโยบายการเงิน แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่อเค้าว่าอาจถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ภาวะเงินฝืดอาจกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงเวลาหลังจากนี้ อาจทำให้เฟดไม่มีทางเลือกมากนักในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในเดือนธันวาคม โดยเฟดอาจจำต้องทำการสร้างสภาวะที่ผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงไปอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.50 จากร้อยละ 1.00 ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเฟดได้ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมๆ กับการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 1 ปีเศษที่ผ่านมา แต่กลไกการส่งผ่านผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดไปยังตลาดสินเชื่อประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาคครัวเรือนสหรัฐฯ อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น ค่อนข้างให้ผลที่จำกัด ดังจะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยให้กับสินเชื่อผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีความเปราะบางสูง ขณะที่ ความอ่อนแอของภาคการเงินยังคงต้องรอการเยียวยาจากมาตรการกอบกู้ภาคการเงินเพิ่มเติมจากสภาคองเกรสชุดใหม่ จึงทำให้คาดการณ์ว่า ตลาดสินเชื่อโดยรวมอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงเวลาจากนี้ไปจนถึงช่วงก่อนการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายบารัค โอบามาและสมาชิกสภาคองเกรสชุดใหม่นั้น ตลาดการเงินอันได้แก่ ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งค่าเงินเอเชีย (ยกเว้น เงินเยน) ซึ่งรวมถึงเงินบาท อาจยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนในระดับสูง เนื่องจากไม่สามารถคาดหวังได้ว่า จะมีการเร่งผลักดันมาตรการ/นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญออกมาในช่วงสูญญากาศนี้ เว้นแต่เพียงว่า กระทรวงการคลังและทำเนียบขาวจะเปลี่ยนท่าทีเร่งออกมาตรการเป็นของขวัญให้กับภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ