Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 ธันวาคม 2551

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ย. หดตัวสูงถึง 18.6% ...สะท้อนนัยที่การส่งออกปี 2552 อาจจะเผชิญความเสี่ยงรุนแรงกว่าที่คาด (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2385)

คะแนนเฉลี่ย

ากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ตัวเลขเดือนพฤศจิกายนบ่งชี้สถานการณ์การส่งออกที่ประสบปัญหารุนแรงกว่าที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะเดือนถัดๆ ไป โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

§ การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2551 หดตัวลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยมีมูลค่า 11,870.2 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงถึงร้อยละ 18.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 ในเดือนตุลาคม และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 24.3 ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 5 วันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนสูญเสียไปประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ถ้าขจัดผลของเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานออกไปแล้ว การส่งออกในเดือนพฤศจิกายนก็ยังลดลงประมาณร้อยละ 10 ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกในเดือนนี้ลดลงจึงน่าจะเป็นผลมาจากสภาวการณ์เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่อ่อนแอลง

§ เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกที่สำคัญ ตลาดหลักมีการส่งออกลดลงทุกภูมิภาค ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและอาเซียน สำหรับตลาดใหม่ ส่วนใหญ่ลดลง เช่น ตลาดจีน และออสเตรเลีย เป็นต้น ขณะที่ตลาดใหม่ที่ยังขยายตัว ได้แก่ อินเดีย ยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง ซึ่งการส่งออกของไทยที่ลดลงนี้นับว่าเป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย อันเป็นผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงอย่างมาก ขณะที่เศรษฐกิจโลกในระยะไตรมาสข้างหน้ายังมีความเปราะบาง จากปัญหาวิกฤติในภาคการเงินที่ยังไม่สิ้นสุด ยิ่งไปกว่านั้นผลกระทบที่แผ่ขยายออกไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะผลต่อภาวะการจ้างงาน จะยิ่งเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ คงจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากขึ้น

§ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกในเดือนธันวาคมน่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่อาจเป็นอัตราที่น้อยกว่าในเดือนพฤศจิกายนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงวันแรกๆ ของการปิดท่าอากาศยาน การหดตัวของตัวเลขส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีจะส่งผลให้การส่งออกตลอดทั้งปี 2551 นี้อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 15.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 17.2 ในปี 2550 ทั้งนี้ สภาวะที่การส่งออกจะขยายตัวในอัตราที่ติดลบนี้น่าจะยังคงต่อเนื่องต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 และถ้าคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าสำหรับช่วงฤดูกาลส่งออกในรอบปีหน้าเริ่มกลับเข้ามา ก็น่าจะเป็นผลให้การส่งออกกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2552 อยู่ในช่วงระหว่างขยายตัวร้อยละ 0.0 ถึงหดตัวร้อยละ 5.0

นับจากนี้ แนวโน้มการส่งออกของไทยยังมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงในด้านลบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ซึ่งยังคงต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประเทศต่างๆ ผลักดันออกมาใช้อย่างเข้มข้น ว่าจะก่อเกิดผลในทางบวกที่จะช่วยดึงให้เศรษฐกิจโลกหลุดพ้นจากภาวะถดถอยและกลับมาฟื้นตัวได้รวดเร็วเพียงใด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย