Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 มกราคม 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เงินฝืดญี่ปุ่น … บทเรียนในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2127)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การนำประสบการณ์ของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษของการตกต่ำลงทางเศรษฐกิจและการเผชิญกับภาวะเงินฝืด (ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ถึง 2000) มาเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับทางการประเทศต่างๆ น่าที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกในรอบนี้ ซึ่งหลายๆ ประเทศก็ได้มีการดำเนินนโยบายทั้งการเงินและการคลังเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นนี้ไปแล้วในระดับหนึ่งโดยเลือกปรับใช้นโยบายตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจตน แต่จนกระทั่งขณะนี้ สถานการณ์ความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังมีอยู่ และตลาดการเงินโลกที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็เป็นที่คาดการณ์กันว่าคงจะต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าคงจะไม่นานเท่ากับระยะเวลาที่ญี่ปุ่นใช้ในการเยียวยาปัญหาในอดีต ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ณ ขณะนั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ มีความลังเลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้ง การรับรู้ความเสียหายและเพิ่มทุนของสถาบันการเงินก็ใช้เวลาในการสะสางนานเกินไป นอกจากนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่เกิดประสิทธิผลเต็มที่เท่าที่คาดหวัง กอปรกับเศรษฐกิจยิ่งบอบช้ำมากขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราภาษีที่คิดจากฐานการบริโภคเร็วเกินไปด้วย ดังนั้น การหลุดพ้นออกจากวิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอดีตจึงใช้เวลาในการเยียวยานานกว่าทศวรรษจึงบรรลุผล

สำหรับข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายจากบทเรียนในอดีตของญี่ปุ่นเมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤตนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินได้ว่า องค์ประกอบของการฟื้นเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จนั้น น่าที่ประกอบด้วย การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็วและมากพอ เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นชัดเจน ในขณะเดียวกัน นโยบายการคลังที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐและการใช้นโยบายภาษี ก็เป็นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการด้วยความรอบคอบ แต่ก็ไม่ควรเร่งรีบปรับขึ้นอัตราภาษีหากเศรษฐกิจยังไม่พ้นขีดอันตราย เพียงเพื่อจะรักษากรอบวินัยทางการคลัง เพราะการดำเนินการดังกล่าวอาจยิ่งลดทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและทำให้เศรษฐกิจยิ่งบอบช้ำลงไปอีก นอกจากนี้ ควรที่จะสนับสนุนให้สถาบันการเงินรับรู้ความเสียหายและเพิ่มทุนเร็วที่สุดเพื่อสะสางปัญหาการด้อยค่าลงของสินทรัพย์ และจำกัดขอบเขตของผลกระทบที่มีต่อภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึงเพื่อรักษากลไกทางการเงินให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ และท้ายสุด ความเชื่อมั่นของประชาชนในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและไม่อาจละเลยได้ โดยทางการควรที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อระมัดระวังไม่ให้เศรษฐกิจเกิดภาวะเงินฝืด มิเช่นนั้นประชาชนและภาคธุรกิจจะขาดความเชื่อมั่นและแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต และย่อมเป็นผลร้ายลงไปอีกต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การรับมือกับภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น คงจะไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัวสำหรับทุกๆ ประเทศ และทุกๆ รอบของวิกฤตรวมทั้งคงจะไม่สามารถใช้องค์ประกอบใดเพียงองค์ประกอบหนึ่งโดยลำพังเพื่อฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่การฟื้นเศรษฐกิจจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทางการของประเทศมีการดำเนินการผ่านองค์ประกอบต่างๆ ควบคู่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งคงจะต้องมีการปรับใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นสำคัญด้วย

ในส่วนการดำเนินนโยบายของทางการไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รัฐบาลก็ได้มีการวางแนวทางรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มาถูกทางแล้ว เพราะมีทั้งมาตรการระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อการเรียกฟื้นความเชื่อมั่น การต่ออายุมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน และการดูแลปัญหาราคาสินค้าพืชผลที่ตกต่ำลง ตลอดจนมาตรการระยะกลางและยาวเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ การปรับโครงสร้างระบบภาษี และการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์

อย่างไรก็ตาม กระบวนการของการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มีกรอบเวลาและต้องการความโปร่งใส เป็นอีกปัจจัยที่รัฐบาลควรต้องคำนึงถึงนอกเหนือจากประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของแต่ละมาตรการ นอกจากนี้ การพิจารณาปรับลดอัตราภาษีแบบถาวรอาจจะมีประสิทธิผลในการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนได้มากกว่าการลดภาษีแบบชั่วคราว โดยเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ ก็คือ การผ่านงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2552 เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 1.0 แสนล้านบาท การเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ และการออกมาตรการรองรับปัญหาการว่างงานที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มนายจ้างและลูกจ้าง สำหรับในด้านนโยบายการเงินนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง คงจะเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีพื้นที่มากพอสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในระยะข้างหน้าเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังมีสูงในช่วงปีข้างหน้า ซึ่งคงจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินให้มีอย่างเพียงพอในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนการดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้เป็นไปตามกลไกตลาดและไม่เสียเปรียบในเชิงการแข่งขันสำหรับภาคการส่งออก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ