Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มกราคม 2552

เศรษฐกิจไทย

การส่งออกเดือนธ.ค. หดตัว 14.5% ... แนวโน้มครึ่งแรกปี 2552 อาจจะยังคงหดตัวเฉลี่ยเป็นตัวเลข 2 หลัก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2409)

คะแนนเฉลี่ย

ากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2552 ตัวเลขการส่งออกในเดือนธันวาคม 2551 ยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกต่อการส่งออกของไทย อาจจะยังคงมีความรุนแรงต่อไปตลอดระยะครึ่งแรกของปี 2552 นี้เป็นอย่างน้อย โดยประเด็นวิเคราะห์ที่สำคัญ มีดังนี้

§ การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2551 มีมูลค่า 11,604.9 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 14.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตราติดลบที่ดีขึ้นเล็กน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวถึงร้อยละ 20.5 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 11,254.8 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 6.5 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ในเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนนี้พลิกกลับมาเกินดุล 350.1 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ภาพรวมตลอดทั้งปี 2551 การส่งออกของไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 177,841.3 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 15.6 เทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 178,653.1 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 27.6 และดุลการค้าขาดดุล 811.9 ล้านดอลลาร์ฯ

§ สินค้าส่งออกสำคัญรายการสำคัญหดตัวสูงอย่างมาก โดยเฉพาะสิ่งค้าสำคัญอันดับแรก คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลดลงถึงร้อยละ 32.8 ส่วนสินค้าสำคัญอันดับที่สอง คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงถึงร้อยละ 24.3 และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกที่สำคัญ ลดลงต่อเนื่องทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่

§ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจากสภาวการณ์เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ที่การส่งออกหดตัวลงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน แต่อาจกล่าวได้ว่าไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศที่มีโครงสร้างการส่งออกที่พึ่งพาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง ขณะที่โครงสร้างการส่งออกของไทยมีการกระจายตัวไปในกลุ่มสินค้าที่หลากหลายกว่า

§ ท่ามกลางแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะยังคงเผชิญภาวะถดถอยต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะยังคงหดตัวเฉลี่ยเป็นตัวเลข 2 หลัก อยู่ระหว่างร้อยละ 11.0 ถึงร้อยละ 14.0 และกว่าที่จะเห็นการส่งออกกลับมาขยายตัวในแดนบวกอีกครั้ง อาจเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ถ้าเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี สำหรับภาพรวมในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยอาจจะหดตัวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 3.0 ถึงร้อยละ 7.0

ประเด็นที่ต้องติดตามนับจากนี้ อยู่ที่ผลของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกที่หลายประเทศทั่วโลกผลักดันออกมาใช้ โดยเฉพาะความคืบหน้าของมาตรการแก้ไขวิกฤติในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ ภายหลังจากประธานาธิบดีบารัค โอมาบา เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน ในด้านปัจจัยภายในประเทศ รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อการดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อกระตุ้นภาคการส่งออก แม้ว่ารัฐบาลจะมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ แต่หากหลายฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็คาดว่าจะมีส่วนช่วยขยายโอกาสการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย