Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มกราคม 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4/2551 ขยายตัว 6.8% ต่ำสุดในรอบ 7 ปี … กระทบการส่งออกไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2133)

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้อัตราขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ชะลอลงต่อเนื่องเหลือร้อยละ 6.8 ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี จากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 9 ทำให้อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2551 เติบโตเหลือเลขหลักเดียวที่ร้อยละ 9.1 ถือเป็นอัตราต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 13 ในปี 2550 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับจากปี 2543 ที่เติบโตร้อยละ 13.5 การส่งออกและการนำเข้าของจีนในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปี 2551 ชะลอตัวรุนแรงจนเป็นอัตราติดลบ ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตภายในประเทศด้วย คาดการณ์ว่าภาคส่งออกและภาคอุตสาหกรรมของจีนมีแนวโน้มชะลอลงอีกอย่างน้อยจนถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซา ทำให้การว่างงานในจีนปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยแรงงานที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเลิกจ้างงานจะเป็นแรงงานอพยพในภาคธุรกิจส่งออกของจีนที่ต้องเผชิญกับภาวะชะลอรุนแรงของความต้องการจากตลาดต่างประเทศทำให้ต้องปิดตัวลงเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่จะส่งผลให้สถานการณ์การจ้างงานในจีนในปี 2552 ที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะมาจากทั้ง 2 ด้านควบคู่กัน ได้แก่ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจะส่งผลขับเคลื่อนภาคส่งออกซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการจ้างงานสูงที่สุดของจีน ขณะที่มาตรการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่มีประสิทธิผลมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมภายในซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการจ้างงานเช่นกัน ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และอุตสาหกรรมยานยนต์

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการว่างงานในจีนอาจเผชิญกับข้อจำกัด ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวนานกว่าที่คาดการณ์ และกระแสกีดกันทางการค้าในภาคการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการขยายการส่งออกของจีนมากขึ้น ข้อจำกัดอีกประการ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการโอนแรงงานที่ว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะแรงงานภาคส่งออกไปยังภาคก่อสร้างที่ถูกกระตุ้นจากมาตรการของทางการจีนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งเขตเมืองและภาคชนบททั่วประเทศ นอกจากนี้ การพัฒนาภาคชนบทของทางการจีนเพื่อรองรับแรงงานกลับบ้านเกิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม อาจต้องเผชิญผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องในปี 2552 ส่งผลให้รายได้จากภาคเกษตรปรับลดลง ประกอบกับผลกระทบจากการชะลอตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตร ทำให้รายได้ของภาคชนบทเติบโตชะลอลงด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพด้านสังคมในภาคชนบทตามมาด้วย

สำหรับผลกระทบต่อไทย ในระยะสั้น เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องคาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ที่การส่งออกไปจีนมีอัตราติดลบ โดยสินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่มีมูลค่าลดลงครอบคลุมทั้งสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ที่สำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่จีนนำเข้าเพื่อใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องประสบภาวะชะลอตัวจากทั้งความต้องการของตลาดต่างประเทศและในประเทศที่ซบเซา นอกจากนี้ จำนวนคนว่างงานในจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมทั้งค่าจ้างของพนักงานที่อาจถูกปรับลดลงจากการลดการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตามความต้องการที่ชะลอลง อาจทำให้การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปจีนชะลอตัวตามกำลังซื้อที่ลดลงด้วย สำหรับด้านการนำเข้าจากจีน ธุรกิจส่งออกในจีนที่ประสบปัญหาและอาจต้องปิดตัวลงมากขึ้นอาจทำให้เกิดการระบายสินค้าที่เหลืออยู่เข้ามาในไทย ทำให้ธุรกิจไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้นด้วย

ระยะปานกลาง-ระยะยาว หลังจากที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ผ่านพ้นไปแล้ว รายได้ในภาคชนบทของจีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากมาตรการสนับสนุนของทางการจีน น่าที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่สำคัญและทำให้จีนพึ่งพาการเติบโตจากเศรษฐกิจภายในได้มากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันกำลังซื้อของประชาชนจีนโดยรวมที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยในระยะยาวด้วย โดยเฉพาะไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความตกลง FTA อาเซียน-จีน ที่จะช่วยให้สินค้าส่งออกของอาเซียนรวมทั้งไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดจีน ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนมีแนวโน้มขยายตัวได้มากขึ้น ขณะที่การลดอุปสรรคจากกฎระเบียบและเงื่อนไขในภาคบริการและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย เป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยจะเข้าไปประกอบธุรกิจลงทุนในจีนได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่ปัจจุบันจีนยังมีข้อจำกัดด้านการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งถือเป็นผลดีจากความตกลง FTA ที่เป็นช่องทางให้สินค้าส่งออกและธุรกิจไทยสามารถรองรับความต้องการบริโภคของจีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้ดีขึ้น แต่สำหรับในระยะสั้น ภาคธุรกิจไทยอาจต้องเผชิญกับผลกระทบจากการบริโภคของจีนที่อ่อนแรงตามภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2552

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ