Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 กุมภาพันธ์ 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

แนวโน้มอุตสาหกรรมจีนปี 2552 ชะลอตัว ... กระทบส่งออกไทยไปจีน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2138)

คะแนนเฉลี่ย

จีนมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ผลิตของโลกที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องแต่เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวในปี 2551 โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 13 สูงที่สุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากผลกระทบทางอ้อมจากความต้องการบริโภคของตลาดหลักที่ลดลงเช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง ทำให้การส่งออกสินค้าของจีนปี 2551 ชะลอตัวเหลือร้อยละ 17.2 การนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตและการบริโภคชะลอตัวโดยขยายตัวเพียงร้อยละ 18.5 ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนประสบปัญหาผลกำไรลดลง 3 เดือนติดต่อกัน (กันยายน-พฤศจิกายน 2551) ภาคอุตสาหกรรมจีนในเดือนธันวาคมปี 2551 ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.7 การนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจึงได้ปรับลดลงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของจีนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุมเร้าและอาจส่งผลดีทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปและสินค้าทุนจากไทยให้ได้รับอานิสงส์ขยายตัวตามไปด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นักธุรกิจไทยในจีนและนักธุรกิจไทยที่ส่งออกสินค้าไปจีนในปัจจุบันอาจต้องเผชิญการแข่งขันในจีนที่สูงขึ้นเนื่องจากความต้องการสินค้าสำหรับการผลิตและการบริโภคในจีนอ่อนแรงตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาอย่างน้อยจนถึงกลางปี 2552 จึงเป็นการยากลำบากที่จะขยายตลาดในจีนในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้สำหรับภาคธุรกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่ถูกระบายมาจากโรงงานจีนที่ต้องปิดตัวลงจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้สินค้าเหล่านี้มีโอกาสทะลักเข้าสู่ไทยและมีความได้เปรียบด้านราคาที่ต่ำกว่า ซึ่งผลกระทบดังกล่าวยิ่งตอกย้ำภาคอุตสาหกรรมของไทยที่อยู่ในภาวะชะลอตัวและต้องแข่งขันรุนแรงมากขึ้นกับสินค้าราคาถูกจากจีน ดังนั้นภาคธุรกิจไทยควรปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน ลดต้นทุนหรือเน้นที่คุณภาพแทนการแข่งขันด้านราคาที่ไทยอาจสู้ไม่ได้ และควรพิจารณาขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ที่ยังคงเติบโตได้และได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ไม่รุนแรงนักทำให้ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ได้แก่ แอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย และยุโรปตะวันออก เป็นต้น

สำหรับในระยะต่อไปเมื่อเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จีนก็ยังคงมีความต้องการสินค้าเพื่อการผลิตและบริโภคตามเศรษฐกิจที่คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ดังนั้นการผลิตสินค้าที่มุ่งเน้นการขยายตลาดในจีนอาจต้องเพิ่มศักยภาพในการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเน้นการสร้างคุณภาพที่แตกต่างจึงจะสามารถแข่งขันในตลาดจีนได้ โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากประโยชน์ของข้อตกลง FTA อาเซียน-จีน ที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนนักธุรกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นจากการปรับลดอัตราภาษีศุลกากร และการผ่อนคลายเงื่อนไข/กฎระเบียบภาคบริการของจีนส่งผลดีต่อ ด้านการส่งออกของไทยไปจีน สินค้าอาหารของไทยที่มีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกน่าจะขยายตลาดได้ดีในจีน เช่น ผลไม้เมืองร้อน รวมไปถึงสินค้าเมล็ดธัญพืช อุปกรณ์การถ่ายภาพ และอัญมณี/เครื่องประดับ เป็นต้น สำหรับธุรกิจของไทยที่มีศักยภาพ คาดว่าจะขยายการลงทุนในจีนได้ดีจากอานิสงส์ของความตกลง FTA อาเซียน-จีน เช่น ร้านอาหารไทย โรงแรม และบริการทางการแพทย์ เป็นต้น และด้านการนำเข้าของไทยจากจีนน่าจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางจากจีนต่ำลงตามการลดภาษีศุลกากรในกรอบ FTA อาเซียน-จีน เช่น เครื่องจักรกลทางการเกษตร ยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์การขนส่ง เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ