ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปิดเผยมาตรการช่วยเหลือภาคการเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมานั้น แทบไม่สามารถพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา เนื่องจากแผนการดังกล่าวยังคงมีความคลุมเครือ ขาดรายละเอียดของแนวทางการเข้าจัดการกับวิกฤตการเงินอย่างชัดเจน แม้ว่าวงเงินที่ประเมินได้ในเบื้องต้นจากมาตรการเหล่านี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 2.0 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ก็ตาม
ทั้งนี้ พัฒนาการของวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกยังคงมีแนวโน้มบ่งชี้ว่า ปัญหาต่างๆ คงจะยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดเงิน-ตลาดทุน ตลอดจนสกุลเงินต่างๆ ทั่วโลก (ยกเว้น เงินดอลลาร์ฯ และเงินเยน) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจึงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินในระยะถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงขนาดของความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับงบดุลของสถาบันการเงิน (ที่อาจมีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) ซึ่งต้องการสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมารองรับ
นั่นก็หมายความว่า ตลาดการเงินจะต้องจับตารูปแบบ และเงื่อนไขของการให้ความช่วยเหลือของมาตรการต่างๆ ที่อาจทยอยถูกเปิดเผยออกมาอีกในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสภาคองเกรสให้ดำเนินการใช้เงินในการช่วยเหลือสถาบันการเงินอย่างระมัดระวัง ซึ่งทำให้คาดว่า คงจะมีการตั้งเงื่อนไข เพื่อเป็นการแลกกับการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว
นอกจากนี้ ตลาดยังคงต้องประเมินว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้เกิดต้นทุนที่อาจสร้างภาระทางการคลังให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างไร (เช่น ผลที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปให้การค้ำประกัน ตลอดจนส่วนที่ต้องชดเชยความสูญเสียจากการลงทุน เป็นต้น) โดยอุปทานพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้นจากการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ดังกล่าว ย่อมจะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดพันธบัตรและแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ โดยเฉพาะพันธบัตรที่มีอายุยาว
โดยรวมแล้ว แม้ว่าถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาด และส่งผลกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก แต่นักลงทุนยังคงต้องเฝ้าติดตามรายละเอียดของแผนการดำเนินงานที่น่าจะทยอยเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในระยะถัดๆ ไป โดยประเด็นหลักที่นักลงทุนคงจะพยายามประเมิน ก็คือ การดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าว เมื่อประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด ที่คาดว่าจะผ่านสภาคองเกรสและเสนอต่อประธานาธิบดีโอบามาเพื่อลงนามให้ได้ภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ (ตามแผนที่กำหนดไว้เบื้องต้น) แล้ว จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างที่ได้ตั้งความหวังกันเอาไว้หรือไม่
ซึ่งหากโดยภาพรวมแล้ว รายละเอียดของมาตรการต่างๆ ที่ออกมา พอจะเป็นที่ยอมรับได้ ตลาดก็คงจะคลายความกังวล ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น และเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง แต่หากตลาดมองว่า มาตรการดังกล่าวยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยสถาบันการเงินอาจยังต้องเผชิญกับความสูญเสียอีกในอนาคต รวมทั้งยังคงมีความสงสัยต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นทั่วโลกก็อาจจะยังไม่ฟื้นกลับมา ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจยังคงได้รับแรงหนุนให้ปรับตัวแข็งค่าได้จากความต้องการของนักลงทุน ที่มองว่า ท่ามกลางความเสี่ยงของภาวะถดถอยทั่วโลกนั้น เงินดอลลาร์ฯ ยังคงมีความปลอดภัยสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น