Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 กุมภาพันธ์ 2552

เศรษฐกิจไทย

การส่งออกเดือนมกราคมหดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ ... แนวโน้มและทางออกของผู้ประกอบการส่งออกไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2436)

คะแนนเฉลี่ย

ากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคม 2552 ยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกต่อการส่งออกของไทย อาจจะยังคงมีความรุนแรงต่อไปตลอดระยะครึ่งแรกของปี 2552 นี้เป็นอย่างน้อย โดยประเด็นวิเคราะห์ที่สำคัญ มีดังนี้

- การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2552 มีมูลค่า 10,496 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 26.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ และมีอัตราการขยายตัวติดลบเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในช่วงเดือนนี้มีมูลค่า 9,119 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 37.6 หดตัวรุนแรงกว่าด้านการส่งออก จึงส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนนี้มีการเกินดุลรายเดือนในระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยเกินดุล 1,377 ล้านดอลลาร์ฯ

- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สภาวะที่การส่งออกหดตัวสูงเป็นอัตราตัวเลขสองหลักนี้จะต่อเนื่องต่อไป จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3/2552 ขณะที่การฟื้นตัวของการส่งออกยังเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม เนื่องจากขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ

- จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะคงอยู่ในสภาวะถดถอยยาวนานกว่าที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดประมาณการแนวโน้มการส่งออกของไทยลง โดยคาดว่าการส่งออกในปี 2552 อาจจะลดลงประมาณร้อยละ 10.0-16.0 จากปีก่อนหน้า เป็นการหดตัวมากขึ้นจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะลดลงร้อยละ 7.0-12.0 ซึ่งจะนับเป็นการถดถอยของการส่งออกครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์ของไทย

- ท่ามกลางวิกฤตในธุรกิจส่งออกนี้ ธุรกิจแต่ละประเภทอาจจะได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ต่อกลุ่มสินค้าส่งออกของไทย โดยจำแนกลักษณะของผลกระทบได้ดังนี้

- กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงและฟื้นตัวช้า เช่น กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนอากาศยาน และอาจรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องเรือน

- กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรงแต่มีโอกาสฟื้นตัว เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทฮาร์ดดิสก์ เซมิคอนดักเตอร์

- กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับตัวลดลงของทั้งด้านราคาและความต้องการสินค้า อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอาจจะเริ่มเห็นได้ถ้าหากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเริ่มกล้าที่จะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์

- กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบปานกลาง สินค้าข้าวของเครื่องใช้ใกล้ตัว เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ของเล่น อาจหดตัวในอัตราที่น้อยกว่ากลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น แต่ปัญหาที่ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มนี้อาจต้องเผชิญคือการแข่งขันรุนแรง

- กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เช่น กลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าที่ผู้บริโภคมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น ดังจะเห็นได้ว่า สินค้ากลุ่มนี้ยังคงมีการส่งออกที่ค่อนข้างทรงตัวหรือยังขยายตัวได้

ดยสรุป ท่ามกลางแนวโน้มที่ภาคธุรกิจส่งออกของไทยจะยังคงเผชิญผลกระทบที่รุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลก การปรับตัวของผู้ประกอบการในสภาวการณ์เช่นนี้ การหาตลาดใหม่อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเข้ามาชดเชยกำลังซื้อในตลาดหลักที่หายไปจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม การรุกตลาดใหม่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรแสวงหากลุ่มตลาดที่มีกำลังซื้อในตลาดหลักควบคู่กันไปด้วย โดยมุ่งเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้มั่นคงซึ่งยังมีกำลังซื้อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรจับตามาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าสูงของรัฐบาลในแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด การเปิดรับข้อมูลโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ จะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดกลยุทธ์การส่งออกและการค้นหาโอกาสท่ามกลางภาวะวิกฤตนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย