Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 กุมภาพันธ์ 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ธุรกิจเครื่องดื่มในจีนปี 2552...โอกาสเติบโตภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2443)

คะแนนเฉลี่ย

ภายหลังการเปิดประเทศสู่โลกการค้าของจีนในปี 2521 และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 มีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศจีนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคขยายตัว อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาภาคการบริโภคและธุรกิจในประเทศรวมทั้งธุรกิจเครื่องดื่มในจีนต้องเผชิญกับแรงกดดันจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยในปี 2552 ธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีนได้รับแรงกดดันภายใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคค้าปลีกในประเทศจีนให้ชะลอตัวตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแรงลง อีกทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นจากการขยายตัวของผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้น โดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจีน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตและผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีนกว่า 1,300 แห่ง

สำหรับแนวโน้มของธุรกิจเครื่องดื่มจีนในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าธุรกิจเครื่องดื่มของจีนในปีนี้น่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวเหลือร้อยละ 18.9 เป็น 55.35 พันล้านหยวน (7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 21.5 อย่างไรก็ตาม แม้คาดว่าอัตราเติบโตอาจชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่คาดว่ายังคงซบเซาถึงกลางปี 2552 แต่ยังมีการดำเนินการของมาตรการการเงินผ่อนคลายและมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคประชาชนภายในประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องในปี 2552 เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจในปี 2552 ขยายตัวที่ร้อยละ 8 ตามเป้าหมายของทางการจีน ทำให้คาดว่า น่าจะช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงมูลค่าค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะค่อยดีขึ้นในช่วงกลางปี 2552 ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างมั่นคง คาดว่าคงจะต้องรอเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2552 ทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มในตลาดจีนน่าจะมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นตามไปด้วย

โดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มคาดว่า ในช่วงปลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ของจีน (2549-2553) ประเทศจีนจะกลายเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในอีก 30 ปีข้างหน้าจีนจะเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องดื่มที่มีความสำคัญมากที่สุดในโลก จากปัจจุบันที่จีนเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องดื่มมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทั้งนี้ จากสภาพตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีน พบว่า ปัจจุบันการขยายตัวของสัดส่วนเครื่องดื่มน้ำผลไม้เพิ่มขึ้นสวนทางกับเครื่องดื่มน้ำอัดลมซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจต่อสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้นส่งผลให้ปัจจุบันผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่หลายรายทั้งในท้องถิ่นของจีนเองและข้ามชาติต่างปรับกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

ในส่วนของโอกาสการค้าและการลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยอาจทำการส่งออกสินค้าวัตถุดิบเพื่อป้อนให้แก่ผู้ผลิตในธุรกิจเครื่องดื่มของประเทศจีนโดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผลไม้อาทิ สัปปะรด และ ส้ม ซึ่งไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านแหล่งเพาะปลูกและการผลิตเพื่อผลิตเป็นสินค้าเครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศจีนโดยใช้สิทธิประโยชน์จากเปิดการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีนที่ได้ปรับลดภาษีสินค้าผลไม้เป็นร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2546 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพอาจดำเนินการส่งออกสินค้าเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ไทยไปยังตลาดจีน โดยผ่านบริษัทตัวแทนหรืออาจมองหาพันธมิตรท้องถิ่นที่มีศักยภาพเพื่อใช้ประโยชน์ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและการทำตลาดในประเทศจีน

ในด้านของการลงทุนผู้ผลิตไทยอาจเข้าไปจัดตั้งโรงงานเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาทิ กระป๋อง และกล่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศจีนหรือแม้แต่การเข้าไปผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อจำหน่ายในประเทศจีนโดยร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นจีนที่มีความรู้ช่องทางการตลาดและรู้จักตลาดในจีนเป็นอย่างดี

โดยเครื่องดื่มที่น่าจะมีโอกาสทำตลาดในประเทศจีน ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มน้ำผลไม้ หรือแม้แต่เครื่องดื่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพประเภทต่าง ๆ เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและความงาม เครื่องดื่มอีกประเภทที่น่าสนใจคือ เครื่องดื่มน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพซึ่งผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตและค้นคว้าวิจัย รวมถึงมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำตลาดซึ่งได้แก่ น้ำลำไย น้ำมะขาม และน้ำใบเตย ซึ่งน่าจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้บริโภคระดับกลาง-บน เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจต่อกระบวนการรักษาโรคและการบำรุงสุขภาพตามศาสตร์แพทย์แผนจีนโดยใช้สมุนไพรทำการรักษาซึ่งคงต้องใช้งบประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจีนต่อเครื่องดื่มของไทย

ทั้งนี้ โอกาสการค้าและการลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มจีนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวทางรายได้ของประชากรในประเทศจีนและพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกผู้ประกอบการไทยที่มีแผนเข้าไปลงทุนในตลาดเครื่องดื่มของประเทศจีนควรจับตาดูปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างใกล้ชิดที่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในจีนโดยเฉพาะความต้องการบริโภคเครื่องดื่มประเภทที่มีราคาสูงและเป็นสินค้าไม่จำเป็นที่อาจชะลอตัว เช่น เครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ และ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพต่างๆ รวมถึงภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดจากคู่แข่งที่มากด้วยประสบการณ์จากต่างประเทศและคู่แข่งท้องถิ่นจีนซึ่งมีความได้เปรียบและเชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนรวมถึงมีช่องทางการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรทำการวิจัยค้นคว้าด้านพฤติกรรม วัฒนธรรม รสนิยม และ ประเพณี ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละมณฑลของประเทศจีนอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนการเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนเพื่อพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน ควบคู่กับการศึกษาด้านอุปสรรคและปัญหาการส่งออก อาทิ มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช้ภาษีของจีนและปัญหาด้านการขนส่งสินค้า รวมทั้งกฎข้อบังคับด้านการลงทุนและการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารของจีนทั้งในด้านสินค้าและบรรจุภัณฑ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนซึ่งล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างลึกซึ้ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ