Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มีนาคม 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จีนฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก : เร่งกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2456)

คะแนนเฉลี่ย

ทางการจีนคงรอประเมินผลของการเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินการไปแล้ว สถานการณ์ของภาคส่งออกและภาวะเศรษฐกิจโลก หากมีความจำเป็นคาดว่าทางการจีนคงจะเพิ่มงบรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีของจีนแม้ว่าจะสูงขึ้นในปีนี้ แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทำให้จีนยังสามารถเพิ่มการขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก เพื่อให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้เติบโตได้ร้อยละ 8 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างคาดว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 8 ในปีนี้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 6.7 ขณะที่ Consensus Forecast คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 7 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ร้อยละ 8 ตามที่ทางการจีนตั้งเป้าไว้ แต่ก็ยังถือว่าชะลอตัวต่อเนื่องจากที่เติบโตได้ร้อยละ 9 ในปี 2551

หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เศรษฐกิจจีนในปีนี้น่าจะยังเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแรงส่งของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้จ่ายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในและมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายที่ช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้นและมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงที่น่าจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ ประกอบกับข้อได้เปรียบด้านเงินสำรองต่างประเทศของจีนที่สูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ความสามารถในการใช้จ่ายด้านการคลังของจีนยังอยู่ในระดับสูง และตลาดภายในขนาดใหญ่ คาดว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจากภาวะชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และสามารถประคับประคองเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวต่อไปได้ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียไม่ให้ถลำลึกลงไปมากจนเกินไป

การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่เน้นรายจ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เหล็ก และทองแดง ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกในระยะต่อไป ขณะที่ผลของการใช้จ่ายของทางการจีนด้านการกระตุ้นการบริโภคในการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังค่อนข้างน้อย ความหวังที่แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจไทยจากความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของจีนที่เพิ่มขึ้นนั้น จึงมีความเป็นไปได้ไม่มากนัก

โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญๆ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นล้วนเข้าสู่ภาวะถดถอย และยังไม่มีสัญญาณว่าจะถึงจุดต่ำสุด ทำให้ภาคส่งออกของจีนที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้ถือเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และส่งผลให้ความต้องการของจีนต่อสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของประเทศในเอเชียและไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักต้องอ่อนแรงตามไปด้วย การส่งออกของไทยไปจีนยังคงต้องเผชิญภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญกับแข่งขันกับสินค้าส่งออกจีนที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในตลาดโลกด้วย เนื่องจากทางการจีนมีแนวโน้มที่จะช่วยภาคส่งออกของจีนโดยการปรับลดอัตราภาษีส่งออกทั้งหมด จากก่อนหน้านี้ที่ทางการจีนได้ช่วยภาคส่งออกโดยทยอยปรับเพิ่มอัตราภาษีคืนแก่ภาคส่งออก (Export Tax Rebates) ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ