Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มีนาคม 2552

เศรษฐกิจไทย

การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 11.3% … แต่ถ้าไม่รวมทองคำหดตัว 24.6% และสินค้าสำคัญยังหดตัวอย่างหนัก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2458)

คะแนนเฉลี่ย

ากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 ตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หดตัวในอัตราที่น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาด แต่มีสาเหตุจากปัจจัยเบี่ยงเบนหลายประการ โดยเฉพาะผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า และการส่งออกทองคำจำนวนมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การฟื้นตัวของการส่งออกจะยังคงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ โดยประเด็นวิเคราะห์ที่สำคัญ มีดังนี้

§ การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีมูลค่า 11,736 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 11.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นกว่าเดือนมกราคมที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 26.5 แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้วพบว่าเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน ที่เทศกาลตรุษจีนตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ แต่ในปีนี้ไปอยู่ในเดือนมกราคม ทำให้จำนวนวันที่มีการทำธุรกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้มากกว่าปีก่อนที่มีวันหยุดยาวช่วงตรุษจีน นอกจากนี้ ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากทำให้มีประชาชนมาขายทองกับร้านค้าทองเป็นจำนวนมาก ผู้ค้าทองจึงมีการขายทองคำออกไปยังต่างประเทศเพื่อหมุนสภาพคล่อง

§ จากการวิเคราะห์ตัวเลขการส่งออกของไทยโดยเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนแรกที่ไม่รวมทองคำ พบว่าหดตัวลงร้อยละ 27.4 โดยในเดือนกุมภาพันธ์หดตัวร้อยละ 24.6 เป็นการติดลบสูงต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 30.0 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ไทยมีการส่งออกทองคำมูลค่าสูงถึง 1,865 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15.9 ของการส่งออกโดยรวมทั้งหมด (เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 7.4 ในเดือนมกราคม และร้อยละ 1.9 ในปี 2551) และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1148 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ของปีก่อน สำหรับสินค้าส่งออกรายการสำคัญอันดับต้นๆ ที่ยังหดตัวสูง เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และยางพารา ส่วนสินค้าสำคัญอันดับต้นๆ ที่มีการส่งออกขยายตัวเป็นบวกมีเพียงข้าว และอัญมณีและเครื่องประดับเท่านั้น

§ สำหรับแนวโน้มในเดือนถัดๆ ไป ปัจจัยที่มีผลเบี่ยงเบนตัวเลขการส่งออกน่าจะลดน้อยลงไป ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะมีผลต่อทิศทางการส่งออกยังคงเปราะบาง ในประเด็นเกี่ยวกับการส่งออกทองคำ คาดว่าคงมีผลน้อยลง เนื่องจากหลังจากราคาทองคำขึ้นไปแตะระดับสูงสุดของปีนี้ที่ 1,005.40 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ก็ได้มีทิศทางปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง การตื่นขายทองของประชาชนจึงลดน้อยลง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำอื่นๆ ไม่ว่ายูโรโซน หรือญี่ปุ่น ยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง และโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ภายในปีนี้มีน้อยลง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2552 ว่าอาจจะลดลงประมาณร้อยละ 13.5-20.0 จากปีก่อนหน้า โดยคาดว่าการส่งออกจะยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยของโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ในเดือนก่อน ทำให้การส่งออกของไทยอาจจะยังหดตัวสูงในระดับประมาณร้อยละ 20 ต่อเนื่องไปจนถึงปลายไตรมาสที่ 2 ขณะที่แนวโน้มในครึ่งปีหลังยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย