Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 มีนาคม 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจโลกตกต่ำ..การลงทุนจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่อง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2148)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยปี 2552 มีแนวโน้มที่อาจหดตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยในกรณีที่ไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาเพิ่มเติมอีกมากนัก มูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้อาจอยู่ในช่วง 300,000 - 450,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางบีโอไอตั้งไว้ที่ 650,000 ล้านบาท สาเหตุหลักเนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว ตลาดเงินอยู่ในภาวะตึงตัว และราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง ในส่วนกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิที่เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นจริง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 7,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ การกลับมาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้เร็วเพียงใด

แม้ว่าจะเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ไทยก็มีโอกาสในการได้รับการลงทุนจากต่างประเทศจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทข้ามชาติโดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เกิดแนวโน้มของการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมโดยการควบรวมระหว่างกันและการโยกย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุน นอกจากนี้ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังเป็นโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ซึ่งไทยต้องแข่งขันกับอีกหลายๆ ประเทศ อาทิ เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อดึงดูดนักลงทุนใหม่เหล่านี้ให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย และในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนอยู่ในไทย ทำการโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยการร่วมมือกันของภาครัฐที่จะออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมและการปรับมาตรการให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น การปรับลดขั้นตอนและภาษีเพื่อลดความซ้ำซ้อนให้กับธุรกิจ และการช่วยเหลือ/สนับสนุนอุตสาหกรรมโดยการลดภาษีที่มีเงื่อนไขผูกติดกับการจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการฝึกอบรม เป็นต้น

โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดที่รัฐบาลสามารถดำเนินการเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเป็นการดึงดูดการลงทุนในระยะยาว คือ การเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะไฟฟ้า การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ซึ่งประเทศไทยยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง การเร่งจัดทำแผนสำรองกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินหากสนามบินและท่าเรือหลักมีเหตุที่จะใช้การไม่ได้ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการขนส่งสินค้า เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา นอกจากนี้ อีกประเด็นที่หน่วยงานรัฐควรให้ความสนใจ คือ กรณีที่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนหรือได้รับอนุมัติส่งเสริมแล้ว แต่นักลงทุนมีการเลื่อนการลงทุนออกไป ซึ่งในกรณีนี้ทางบีโอไอและภาครัฐควรที่จะคอยติดตามสถานการณ์เพื่อที่จะสามารถร่วมกันแก้ปัญหาและเร่งให้เกิดการลงทุนจริงขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ