Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มีนาคม 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เฟดอัดฉีดสภาพคล่องครั้งใหญ่พลิกฟื้นวิกฤตสหรัฐฯ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2459)

คะแนนเฉลี่ย

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินอีกครั้ง ในการประชุมวันที่ 17-18 มีนาคม 2552 ด้วยการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการสร้างสภาวะผ่อนคลายทางการเงินเพื่อช่วยบรรเทาภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อและพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยนอกเหนือไปจากมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่กรอบ 0.0-0.25% ตามเดิมแล้ว เฟดได้ประกาศมาตรการเชิงปริมาณเพิ่มเติมเพื่อช่วยอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วย การเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ การขยายวงเงินการรับซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจำนองเป็น 1.25 ล้านล้านดอลลาร์ฯ และเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นวงเงินใหม่ 2.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ

ทั้งนี้ ในระยะสั้น คงไม่สามารถปฏิเสธว่า ข่าวในเชิงบวกของมาตรการต่อสู้กับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ มาตรการแก้ไขสภาวะตึงตัวของตลาดสินเชื่อภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินการเสริมความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ของเฟดและทางการสหรัฐฯ ที่อาจทยอยเปิดเผยรายละเอียดในช่วงระยะถัดไปนั้น อาจจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งก็จะส่งผลทำให้ความต้องการเสี่ยงฟื้นกลับคืนมาสู่ตลาดหุ้น แต่ก็อาจส่งผลกดดันค่าเงินดอลลาร์ฯ ในทางกลับกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องการความชัดเจนก่อนที่จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นได้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ในรอบนี้ ได้ผ่านพ้นสภาวะที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว โดยประสิทธิผลของมาตรการของทางการสหรัฐฯ และเฟด อาจถูกประเมินผลจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลที่จะทยอยถูกเปิดเผยออกมาในระยะถัดไป โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน และราคาที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องชี้ในภาคเศรษฐกิจจริงอื่นๆ ซึ่งหากความคาดหวังในเชิงบวกยังไม่ถูกยืนยันด้วยความชัดเจนของแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ว่า ค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจกลับมาได้รับแรงหนุนจากกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนระลอกใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สิ่งที่ยังต้องติดตามก็คือ แนวโน้มเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย อาทิ สภาพคล่อง/ปริมาณเงินที่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการขยายขนาดงบดุลของเฟด และการปรับตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจากความหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มเงินเฟ้อดังกล่าวอาจจะกลายมาเป็นเงื่อนไขที่สร้างข้อจำกัดให้กับเฟดในการใช้งบดุลของตนเพื่อสนับสนุนตลาดสินเชื่อและเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่เฟดอาจต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจสามารถสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณเฉพาะในช่วงที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำเท่านั้น ขณะที่ เฟดอาจจะต้องเตรียมกระบวนการถอยออกจากมาตรการขั้นพิเศษเชิงปริมาณดังกล่าวทันทีที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับเพิ่มระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ