Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 เมษายน 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การประชุมกลุ่มจี 20 : มุ่งขจัดมาตรการทางการค้า ... อาจช่วยบรรเทาการค้าโลกหดตัวปี 2552 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2472)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ความพยายามที่จะหาข้อสรุปร่วมกันของการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20[1] ในวันที่ 2 เมษายนนี้ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกอาจไม่ง่ายนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศต่างๆ ยังมีระดับที่แตกต่างกัน อีกทั้งการมุ่งรักษาเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก ทำให้การประสานนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกร่วมกันคาดว่าจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก แต่หากข้อตกลงร่วมกันของที่ประชุมกลุ่มจี 20ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปฏิรูปและปรับปรุงภาคเศรษฐกิจและระบบการเงิน รวมถึงการรักษาการค้าระหว่างประเทศในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันประสบผลสำเร็จ คาดว่าจะเรียกความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกได้มาก

สำหรับมาตรการทางการค้าที่ประเทศต่างๆ นำออกมาใช้เพื่อปกป้องตลาดภายใน ส่งผลให้เกิดมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศคู่ค้าซึ่งนำไปสู่อุปสรรคทางการค้ามากขึ้น อาจซ้ำเติมภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้วในปัจจุบันให้รุนแรงขึ้นและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อประเทศที่พึ่งพาภาคส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศไทย ที่ต้องเผชิญกับภาวะหดตัวรุนแรงของภาคส่งออกมากขึ้นจากมาตรการทางการค้าต่างๆ จากปัจจุบันที่ต้องประสบกับภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้ว และอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ชะลอตัวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้

ความหวังที่ผู้นำกลุ่มจี 20 จะย้ำถึงการดำเนินการตามข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าและไม่ถอยหลังกลับไปใช้มาตรการปกป้องทางการค้าในรูปแบบต่างๆ น่าจะมีน้ำหนักที่จะช่วยบรรเทาการหดตัวรุนแรงของการค้าโลกในปีนี้ได้บ้างในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ความต้องการในตลาดโลกทรุดตัวอย่างหนัก เนื่องจากมูลค่าการค้าของกลุ่มจี 20 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของการค้าโลกทั้งหมด ขณะที่ประชากรของกลุ่มจี 20 ถือเป็นตลาดบริโภคส่วนใหญ่ของโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ทั้งนี้ประเทศนำเข้าหลักสำคัญของโลก 5 อันดับแรกล้วนเป็นสมาชิกลุ่มจี 20 ได้แก่ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 55 ของการนำเข้าทั้งหมดของโลก

ในส่วนของประเทศไทยที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มจี 20 ครั้งนี้ ในฐานะประธานอาเซียนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการขจัดมาตรการทางการค้าต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกและบรรเทาผลกระทบของภาวะการค้าโลกหดตัว รวมถึงการประกาศท่าทีของอาเซียนที่ยังคงยึดมั่น แนวทางการเปิดเสรีภายในกลุ่มโดยมุ่งการขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนอย่างสมบูรณ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2558 รวมถึงการขยายการเปิดเสรีของอาเซียนไปยังประเทศคู่เจรจาในกรอบต่างๆ (กรอบอาเซียน+1 และกรอบอาเซียน+3 และอาเซียน+6) ที่จะช่วยสร้างโอกาสการขยายการค้าและการลงทุนภายนอกภูมิภาคด้วย

นอกจากการขจัดมาตรการปกป้องทางการค้าต่างๆ ที่จะช่วยฟื้นฟูการค้าโลกในยามวิกฤตแล้ว ความจำเป็นของการปฏิรูประบบการเงินโลกที่ซับซ้อนให้มีความโปร่งใสและชัดเจนจะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินถึงผลดีหรือผลเสียของการลงทุนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางการเงินและเสถียรภาพของเศรษฐกิจตามมาในระยะยาวด้วย



[1] ประกอบด้วยประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศคือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐฯ รวมกับกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วย สหภาพยุโรป (อียู) อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ