Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 เมษายน 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จีนเสนอใช้ระบบ SDRs พร้อมกับเพิ่มบทบาทเงินหยวน...กระเทือนเงินดอลลาร์ฯ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2149)

คะแนนเฉลี่ย

ประเด็นของการใช้ระบบ SDRs เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกแทนเงินดอลลาร์ฯ ถูกเสนอขึ้นมาโดยผู้ว่าการธนาคารกลางจีนในช่วงก่อนการประชุมของกลุ่ม G-20 ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2552 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ข้อได้เปรียบของระบบ SDRs ก็คือ SDRs อาจช่วยบรรเทาผลกระทบทางลบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกจากความผันผวนของเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง นอกจากนี้ ระบบ SDRs อาจเอื้อประโยชน์ให้ประเทศที่สกุลเงินถูกใช้เป็นสกุลเงินสำรองของโลก เช่น สหรัฐฯ มีโอกาสในการแก้ไขความไม่สมดุลที่เรื้อรังของดุลบัญชีเดินสะพัด โดยไม่ส่งผลกระทบให้ประเทศอื่นๆ ต้องแบกรับภาระการแข็งค่าของสกุลเงินในประเทศมากนัก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ระบบ SDRs มีบทบาทในวงที่จำกัด และยังคงมีความด้อยกว่าเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะหากพิจารณาจากหน้าที่ในการเป็นสกุลเงินหลักระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ระบบ SDRs อาจมีบทบาทมากขึ้นในระยะถัดไปหากมีการพัฒนาอย่างจริงจังให้สามารถรองรับระบบการเงินโลกที่มีความซับซ้อนได้ในระยะถัดไป แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การพัฒนาระบบ SDRs ให้เกิดขึ้นจริงและให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกนั้น ยังคงยากที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากระบบ SDRs ในขณะนี้ไม่มีลักษณะทางกายภาพที่มีปริมาณและสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับการทำธุรกรรมทางการเงิน การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่อาจเกิดขึ้นตามมาหากต้องการเพิ่มปริมาณ SDRs ให้มากขึ้นในอนาคต ก็คือ ความเพียงพอของสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสูงที่จะใช้หนุนหลังการขยายตัวของ SDRs ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกต่อผู้ออก SDRs ซึ่งก็คือ IMF ที่ไม่มีรายได้เป็นของตัวเองโดยตรง แต่ต้องอาศัยเงินสนับสนุนจากประเทศสมาชิก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินดอลลาร์ฯ และเงินยูโรจะยังคงเป็นสกุลเงินหลักในทุนสำรองระหว่างประเทศในระยะใกล้ แม้เงินดอลลาร์ฯ อาจจะเริ่มทยอยมีบทบาทที่น้อยลงในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยในยามที่นักลงทุนไม่ต้องการที่จะแบกรับความเสี่ยง และมีความได้เปรียบซึ่งเกิดจากการเป็นสกุลเงินที่มีสภาพคล่องสูงซึ่งออกโดยประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีระดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่ ‘AAA' รวมทั้งมีปริมาณเพียงพอที่จะใช้หมุนเวียนในธุรกรรมการเงิน การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารของสหรัฐฯ ก็จะยังคงเอื้อให้เงินดอลลาร์ฯ เป็นสกุลเงินหลักของโลกต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นการผลักดัน SDRs ให้เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกนั้น คงมีอีกหลายคำถามที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน ขณะที่ แนวโน้มการสรรหาสกุลเงินสำรองหลักทดแทนเงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจางหายไป หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และ/หรือโอกาสของการทรุดตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลกลดน้อยลง แต่กระนั้นก็ดี ประเด็นที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในระยะถัดไป ก็คือ ;บทบาทของเงินหยวน” ในแวดวงการค้าระหว่างประเทศ หลังจากที่จีนได้ทำข้อตกลงสว็อปสกุลเงินหยวนในระดับทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าหลักหลายประเทศ ซึ่งก็เปรียบเหมือนกับ จีนกำลังเริ่มวางแนวทางให้ ;เงินหยวน” เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการลดการพึ่งพา ;เงินดอลลาร์ฯ” ในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศของจีน

สำหรับประเทศไทยนั้น จากบทบาททางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับอดีต (จีนเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับที่ 5 ของไทยมีสัดส่วน 9.1% ของการส่งออกโดยรวมในปี 2551) ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า เงินหยวนอาจเข้ามามีบทบาททางการค้าระหว่างไทยกับจีนมากขึ้นในอนาคต หากจีนนำข้อตกลงสว็อปสกุลเงินหยวนในระดับทวิภาคีมาเจรจากับไทยในระยะถัดไป หลังจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วกับหลายประเทศในกลุ่ม ASEAN+3

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ