Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 มิถุนายน 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจเกาหลีใต้ฟื้น & FTA อาเซียน-เกาหลีใต้…ขับเคลื่อนการค้าการลงทุนไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2162)

คะแนนเฉลี่ย

โดยสรุปการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้สมัยพิเศษที่เกาะเชจูและการประชุมผู้นำภาคธุรกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ (ซีอีโอ ฟอรั่ม) ของนายกรัฐมนตรีและคณะ พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของไทยในช่วงวันที่ 1-2 มิถุนายน 2552 โดยมีการลงนามในความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ฉบับที่ 5 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับนักธุรกิจของอาเซียนและเกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเปิดโอกาสการค้า การค้าบริการและการลงทุนระหว่างไทยและ เกาหลีใต้ให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ที่เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น โดยในช่วงไตรมาสที่ 1/2552 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งถือเป็นขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงสุดของกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ที่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ประสบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

อีกทั้งความมั่นใจของผู้บริโภคเกาหลีใต้เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจที่ได้ปรับตัวดีขึ้น โดยระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98 จุดในเดือนเมษายนมาอยู่ที่ 105 จุดในเดือนพฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมราว 13,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เพื่อกระตุ้นภาคบริโภคภายในประเทศจากงบประมาณ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ในครั้งนี้ มีบทบาทสำคัญที่จะขยายโอกาสทางการค้า ภาคบริการและการลงทุนระหว่างไทยและประเทศอาเซียนอื่น ๆ กับเกาหลีใต้

ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศนั้น ในช่วงม.ค.-เม.ย. 2552 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้รวม 2,454.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 26 (y-o-y) มีมูลค่าการส่งออกราว 844.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หดตัวร้อยละ 21.35 (y-o-y) โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้มูลค่า 766.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ซึ่งการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ชะลอตัวลงเนื่องจากผลกระทบของวิกฤติการเงินโลกที่บั่นทอนภาคการบริโภคและการลงทุนของเกาหลีใต้ให้ซบเซา อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจเกาหลีใต้และเศรษฐกิจโลกที่น่าจะฟื้นตัวอย่างมั่นคงมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญของโลกอย่างสหรัฐ ฯ กลุ่มสหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น รวมถึงเกาหลีใต้ที่เริ่มมีสัญญาณว่า เศรษฐกิจได้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจต่ำสุดมาแล้ว

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ติดลบลดลงเหลือร้อยละ 19 (y-o-y) เทียบกับในเดือนมีนาคมมีอัตราที่ติดลบร้อยละ 22 (y-o-y) ซึ่งอาจเป็นสัญญาณชี้ว่าภาคส่งออกของเกาหลีใต้เริ่มทรงตัวดีขึ้น ขณะที่การนำเข้าของเกาหลีใต้ในไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยหดตัวร้อยละ 7 เทียบกับในช่วงไตรมาสที่ 4/2551 ที่หดตัวสูงร้อยละ 15.7 ซึ่งหากเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้น่าจะช่วยขับเคลื่อนสินค้าส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผนวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนโดยตรงของเกาหลีใต้ในไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกกดดันให้มูลค่าการลงทุนชะลอลง และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศของไทยส่งผลซ้ำเติมให้นักลงทุนหวาดกลัวและไม่เชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งปัจจัยลบต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้การขยายตัวการลงทุนของนักลงทุนเกาหลีใต้ในไทยทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2552 มีจำนวนโครงการการลงทุนของเกาหลีใต้ที่ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยเพียง 7 โครงการ ลดลงกว่าร้อยละ 63 (yoy) และมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 373 ล้านบาท ลดลงกว่าร้อยละ 81 (yoy) จากมูลค่า 1,965 ล้านบาทของช่วงเดียวกันในปี 2551 โดยมูลค่าการลงทุนจากเกาหลีใต้ในประเทศไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.72 ของมูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งหมด

ซึ่งกิจการที่นักลงทุนเกาหลีใต้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาได้แก่ แร่ธาตุและเซรามิกส์ และการบริการ อย่างไรก็ตาม ทิศทางโครงการลงทุนของเกาหลีใต้ในไทยอาจปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาหลีใต้ รวมถึงภาวะการเมืองของไทยที่คาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้ไทยสามารถดึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนเกาหลีใต้กลับฟื้นคืนมา โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่านักลงทุนเกาหลีใต้ขยายการลงทุนในไทยคือ อุตสาหกรรมอิเล็อทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ภายใต้ความตกลงเปิดเสรีด้านการค้าภาคบริการและการลงทุนระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ น่าจะส่งผลดีต่อไทยในด้านต่าง ๆ ดังนี้ คือ

สิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้ขยายตัวได้ดีขึ้นจากการลดภาษีนำเข้าสินค้าส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่การส่งออกสินค้าของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนที่เริ่มเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าไปก่อนในเดือนมิถุนายน 2550 แล้ว โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพทางการค้าได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เส้นด้ายอะคริลิก กากน้ำตาล คอมเพรสเซอร์ อาหารแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ และแผ่นชิ้นไม้อัด เป็นต้น ขณะเดียวกันประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ต่ำลงจากอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบของไทยจากเกาหลีใต้ที่ลดลงเช่นกัน

สำหรับผลดีจากความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ในด้านการลงทุนฉบับที่ 5 นี้ ซึ่งจะครอบคลุมการเปิดเสรีการลงทุนและให้ความคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันจะช่วยผลักดันและขยายการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือ โอกาสดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนเกาหลีใต้ในประเทศโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อป้อนออกสินค้าสู่ตลาดโลก รวมถึงการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้

ในส่วนของการค้าบริการนั้น ธุรกิจด้านบริการของไทยที่มีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่น่าจะมีโอกาสเข้าไปขยายธุรกิจในเกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน คือ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปาและนวดแผนโบราณ ธุรกิจบริการออกแบบ ธุรกิจการบริการทำความสะอาดอาคารและธุรกิจสันทนาการ เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ