Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มิถุนายน 2552

เศรษฐกิจไทย

การส่งออกไม่รวมทองคำในเดือนพฤษภาคมหดตัวสูง 27.3% … แต่แนวโน้มครึ่งปีหลังน่าจะปรับตัวดีขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2537)

คะแนนเฉลี่ย

ากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 19 มิถุนายน 2552 การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2552 มีมูลค่า 11,656 ล้านดอลลาร์ฯ แม้ว่ามูลค่าจะสูงขึ้นกว่าระดับ 10,429 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเมษายน แต่อัตราการหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนยังคงสูงอยู่ที่ร้อยละ 26.6 ใกล้เคียงกับเดือนเมษายนที่หดตัวร้อยละ 26.1 โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และถ้าไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกในเดือนนี้หดตัวลงร้อยละ 27.3 หดตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 26.5 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนในด้านการนำเข้าในเดือนพฤษภาคมยังคงหดตัวสูงร้อยละ 34.7 มีมูลค่า 9,251 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งลดลงจากระดับ 9,834 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเมษายน (หดตัวร้อยละ 36.3)

สำหรับดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมเกินดุล 2,405 ล้านดอลลาร์ฯ โดยภาพรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 22.9 ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ 36.8 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 10,054 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 812 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกตลอดทั้งปี 2552 ลงเป็นหดตัวร้อยละ 15.0-19.0 จากเดิมคาดการณ์ว่าจะหดตัวร้อยละ 0.0-3.0

สำหรับแนวโน้มของการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อาจจะยังคงติดลบสูงกว่าร้อยละ 25 เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการหดตัวของการส่งออกหลังจากนั้นจะค่อยๆ ชะลอลงมาอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 20 แต่ยังเป็นตัวเลข 2 หลัก และเริ่มเป็นตัวเลขหลักเดียวในเดือนตุลาคม ก่อนที่จะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี โดยปัจจัยที่จะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ทิศทางในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามหลายด้าน ที่สำคัญ ได้แก่ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จะผลักดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และมีผลต่อผู้ส่งออกไทย แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานของอุปสงค์ที่แท้จริง ซึ่งจะบั่นทอนอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค การตัดสินใจของกลุ่มประเทศชั้นนำของโลกต่อแนวทางลดหรือหยุดดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความรุนแรงของการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) โดยประเด็นที่ควรติดตามคือพัฒนาการของเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่นี้ที่เริ่มพบการกลายพันธุ์

สำหรับแนวทางกลยุทธ์ในการขยายการส่งออก ทั้งในส่วนของทางการไทยและในด้านผู้ประกอบการเอง นอกเหนือจากการรอคอยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าแล้ว อาจต้องใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม การได้ประโยชน์โดยตรงจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐอาจมีข้อจำกัดเนื่องจากรัฐบาลส่วนใหญ่มีแนวทางรณรงค์ใช้สินค้าภายในประเทศ แต่ผู้ประกอบการที่ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนประกอบ อาจมีโอกาสหาช่องทางทำตลาดขายให้แก่ผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปในประเทศเหล่านั้น

นอกจากนี้ ธุรกิจยังควรหาทางพลิกวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ให้เป็นโอกาส จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพและป้องกันการรับเชื้อ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานและสินค้าที่จัดส่งถึงบ้าน (Home Delivery) ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรมองหาช่องทางการทำตลาดที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ช่องทางอินเทอร์เน็ต หรือ e-Commerce ในกรณีที่คู่ค้าอาจจะลดความถี่ในการเดินทางมาเจรจาธุรกิจโดยตรง สำหรับการแสวงหาโอกาสส่งออกไปยังตลาดใหม่ก็เป็นแนวทางที่สำคัญ เนื่องจากตลาดใหม่หลายประเทศยังคงมีการขยายตัวได้ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอย

สำหรับแนวทางช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐหลักๆ น่าจะเป็นการสนับสนุนด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งปัญหาสภาพคล่องเป็นปัญหาสำคัญที่ธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ และการดำเนินกิจกรรมการตลาดเชิงรุก เพื่อหาตลาดใหม่ๆ รวมทั้งให้ข้อมูลโอกาสช่องทางในตลาดที่มีศักยภาพ จะช่วยเสริมโอกาสให้แก่ผู้ส่งออกไทย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2552 ว่าจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 14.5-19.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 15.5 ในปีก่อนหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย