Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กรกฎาคม 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ประชุมผู้นำกลุ่มจี 8 … ร่วมมือหาแนวทางเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2553)

คะแนนเฉลี่ย

ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ หรือกลุ่มจี 8 ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี แคนาดา และรัสเซีย มีกำหนดประชุมหารือในวันที่ 8-10 กรกฎาคม นี้ ณ ประเทศอิตาลี พร้อมด้วยผู้นำจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศรวมถึงจีน อินเดีย และบราซิลที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจของการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การหาแนวทางรับมือกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีการหารือกันในการประชุมผู้นำกลุ่มจี 8 ครั้งนี้ และน่าจะมีท่าทีที่ชัดเจนออกมาหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ได้แก่ ปัญหาค้าโลกหดตัว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านอาหาร และเงินสกุลหลักของโลก

แม้ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศแกนนำหลักของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น ได้ปรากฏสัญญาณปรับตัวดีขึ้นบ้างแล้ว เนื่องจากได้รับแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ แต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจหลายๆ ด้านที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ได้แก่ อัตราการว่างงานที่ยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกดดันภาคการบริโภคของประเทศต่างๆ ให้อ่อนแรงลง ขณะที่การขาดดุลงบประมาณในระดับสูง ส่งผลกดดันต่อเสถียรภาพด้านการคลังที่อาจเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงในระยะต่อไป ทำให้คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศแกนนำหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ กลุ่มยูโรและญี่ปุ่น คงยังไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้ แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คงเป็นการปรับตัวเข้าสู่ความสมดุลของภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน เพื่อรอการฟื้นตัวอย่างมั่นคงของภาคการบริโภค

คาดว่าการประชุมผู้นำกลุ่มจี 8 ในครั้งนี้ คงให้น้ำหนักกับแนวทางและมาตรการที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมั่นคง รวมทั้งการบรรเทาปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน และเสถียรภาพด้านราคา ได้แก่ การว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง การขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นของประเทศต่างๆ ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ตามระดับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีทิศทางขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคการบริโภคในระยะต่อไป การออกจากการดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ (exit strategy) ที่ได้มีการกล่าวถึงในช่วงก่อนหน้านี้เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อในระยะข้างหน้านั้น คาดว่าประเทศต่างๆ จะทยอยดำเนินการถอยออกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 หลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ฟื้นตัวอย่างมั่นคงมากขึ้นแล้ว

สำหรับเศรษฐกิจไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจนทำให้จีดีพีของไทยหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 โดยสาเหตุหลักเนื่องจากภาคส่งออกที่เป็นตัวจักรขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับภาวะหดตัวต่อเนื่องและมีอัตราติดลบเร่งขึ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม

แม้คาดว่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะกระเตื้องขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่การที่ภาคส่งออกของไทยจะกลับมาเติบโตเป็นปกติได้อีกครั้งคงต้องรอการฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพของเศรษฐกิจประเทศกลุ่มจี 3 ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยซึ่งจะเป็นแรงส่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในโลกเติบโตได้ดีในระดับเดิมก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2553 หลังจากที่เริ่มค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงกลางปี 2553 เป็นต้นไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ