Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กรกฎาคม 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย 2552 ... ผลต่อทิศทางการค้าและการลงทุนของไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2554)

คะแนนเฉลี่ย

การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซียปี 2552 คาดว่านายสุลิโล บัมบัง ยูดโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) จะได้เป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องในสมัยที่ 2 ด้วยความนิยมถึงร้อยละ 60 เนื่องจากการบริหารประเทศอย่างโปร่งใส การใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้า ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมากนักต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ทั้งนี้การกลับเข้ามารับตำแหน่งบริหารประเทศต่อเนื่องอีกครั้งจึงมีนโยบายทางเศรษฐกิจหลายๆด้านที่ควรจับตาทั้งด้านการค้าและการลงทุนซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการค้าและการลงทุนของไทยรวมถึงประเด็นด้านภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่ยังคงรักษาอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกไว้ได้ เทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียที่ล้วนประสบปัญหาเศรษฐกิจหดตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของอินโดนีเซียในปี 2552 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นและคาดว่าปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 3.4-4.5 และในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 5-6 และหากเศรษฐกิจอินโดนีเซียสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด การส่งออกของไทยที่น่าจะได้ประโยชน์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อาหารฮาลาลโดยเฉพาะปลา/ผลิตภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์(น้ำยางข้น ยางวัลคัลไนท์ และล้อยาง) วัตถุดิบสิ่งทอ(เส้นใยประดิษฐ์) ชุดชั้นใน ถุงน่อง รองเท้าแตะ กระดาษ วิทยุ โทรทัศน์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และวัสดุก่อสร้าง(เหล็ก) เป็นต้น

โดยได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่ปรับตัวดีขึ้นและจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อยู่ในระดับแข็งค่าส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปอินโดนีเซียมีราคาถูกลงในสายตาของผู้นำเข้าอินโดนีเซีย ทั้งนี้ควรระวังปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปอินโดนีเซียในระยะต่อไป ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนที่อาจผันผวน อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียที่มีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในอินโดนีเซีย และกฎระเบียบการนำเข้าของอินโดนีเซียที่เข้มงวดมากขึ้น เป็นต้น

สำหรับช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจในอินโดนีเซียสำหรับธุรกิจไทย เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในของอินโดนีเซีย ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างที่น่าจะมีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนธุรกิจอาหาร เช่น อาหารฮาลาลที่ไทยมีศักยภาพและอินโดนีเซียมีแหล่งวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์น่าจะมีโอกาสขยายตัวเพื่อรองรับตลาดภายในของอินโดนีเซียที่มีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สาขาการลงทุนอื่นๆที่น่าสนใจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยางพารา อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้า ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น

ทั้งนี้ควรระวังปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบการดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต สำหรับธุรกิจการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกของอินโดนีเซีย ควรระวังอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนในระดับแข็งค่าที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซียให้ต้องชะลอตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากและไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่อาจส่งผลต่อธุรกิจท่องเที่ยวและค้าปลีกในประเทศ เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ