Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 สิงหาคม 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จีนขยายลงทุนนอกประเทศ … อาเซียน & ไทยอาจได้อานิสงส์ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2606)

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ส่งผลให้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในปีนี้ต้องประสบภาวะหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการลงทุนนอกประเทศของจีนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2546 และคาดว่าการลงทุนของจีนในต่างประเทศในปีนี้ยังคงเติบโตได้ดี เนื่องจากธุรกิจในจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก และความมีศักยภาพด้านเงินทุนน่าจะทำให้ธุรกิจจีนแสวงหาโอกาสการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้โดยได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคส่งออกของจีนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่กระเตื้องขึ้น น่าจะส่งผลให้การลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจจีนขยายตัวได้ดีขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับยังมีแรงสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมของทางการจีนให้ธุรกิจออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นโดยการผ่อนคลายกฎระเบียบการออกไปลงทุนในต่างประเทศและการอำนวยความสะดวกด้านการขออนุมัติการลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นอกจากปัจจัยสนับสนุนข้างต้นที่คาดว่าน่าจะส่งผลดีต่อมูลค่า FDI ของจีนให้เข้ามาลงทุนในประเทศอาเซียนและไทยมากขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยบวกจากการลงนามความตกลงด้านการลงทุนระหว่างอาเซียนและจีนในวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2553 จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนระหว่างกัน ส่วนความตกลงการเปิดเสรีภาคบริการรอบที่ 2 ระหว่างอาเซียนกับจีนที่อยู่ระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้และมีผลบังคับใช้ในปี 2553 ซึ่งการเปิดเสรีภาคบริการรอบที่ 2 นี้จะครอบคลุมกิจกรรมสาขาบริการที่กว้างขึ้นเมื่อเทียบกับการเปิดเสรีภาคบริการรอบแรก ทำให้นักลงทุนจากจีนมีโอกาสเข้ามาแสวงหาโอกาสลงทุนในภาคบริการของอาเซียนและไทยได้สะดวกขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับการลงทุนของจีนในไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในฐานะที่ไทยเป็นแหล่งลงทุนสำคัญอันดับต้นๆ ของอาเซียน โดยมีมูลค่า FDI ในไทยสูงเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และถือว่าไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพในหลายสาขา เช่น ยานยนต์/ชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร ภาคบริการด้านท่องเที่ยว ก่อสร้าง และบริการด้านสุขภาพ ทั้งนี้ นักลงทุนจีนได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยหลายสาขา

โดยคาดว่าการลงทุนของจีนในไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะขยายตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่มีโครงการลงทุนของจีนที่เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 507.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 182 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 (YoY) สะท้อนจากการประชุมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจระหว่างไทยกับจีนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่มีนักลงทุนจีนให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยหลายสาขา โดยคาดว่าบางโครงการที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) แล้วรวม 9 คู่ น่าจะเริ่มทยอยลงทุนในไทยได้ในปีนี้

สาขาที่คาดว่าจะมีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเบา รวมทั้งธุรกิจภาคบริการหลายสาขา ได้แก่ โรงแรม ศูนย์บริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และธุรกิจสปา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ