Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 สิงหาคม 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้น...ผลดีต่อการค้าและการลงทุนของไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2174)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้สะท้อนให้เห็นว่า ญี่ปุ่นได้ผ่านพ้นช่วงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมาแล้ว โดยสถิติจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า จีดีพีในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ของญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 เมื่อเทียบรายปี (q-o-q annualized) และเติบโตร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (q-o-q) ซึ่งกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านเยน ยังคงลดลงกว่าร้อยละ 35 (y-o-y) แต่อัตราหดตัวชะลอลง

เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 4.1 ล้านล้านเยน อัตราหดตัวชะลอลงเช่นเดียวกันเหลือร้อยละ 41 (y-o-y) ส่งผลให้ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้ากับต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 81 จุด เทียบกับในเดือนพฤษภาคมในระดับ 79.1 จุด ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนล่าสุดในเดือนกรกฎาคมทะลุ 39 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 1.8 จุด แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทุ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 25 ล้านล้านเยน (2.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากภาวะการว่างงานที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 เดือน (ม.ค-มิ.ย.) นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่นำไปสู่ภาวะเงินฝืด

เนื่องจากดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยในเดือนมิถุนายนลดลงร้อยละ 1.8 ขณะที่ดัชนียอดค้าปลีกในเดือนเดียวกันลดลงร้อยละ 0.3 สะท้อนถึงกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศที่ยังคงอ่อนตัวเนื่องจากอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูงทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.1 เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศให้ฟื้นตัวดีขึ้น

โดยรายงานจาก Focus Economics Consensus ในเดือนสิงหาคมคาดการณ์ว่า ในปี 2552 ญี่ปุ่นน่ามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 6.4 และคาดว่าน่าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2553 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ภาวะการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) รวมถึงทิศทางการค้าและการลงทุนของไทย-ญี่ปุ่นในช่วงที่เหลือของปีนี้ดังนี้

ด้านการค้า ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกกดดันให้การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นชะลอลงในปี 2552 โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-ก.ค. 2552) มูลค่าการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นรวม 20,744 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงกว่าร้อยละ 34 (y-o-y) มูลค่าการส่งออกราว 8,471 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หดตัวร้อยละ 28.09 (y-o-y) และมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งสิ้น 12,273 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 38 (y-o-y) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่นที่หดตัวได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และยางพารา อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า มีเพียงการส่งออกสินค้าไก่แปรรูปที่ยังคงขยายตัว ส่วนการนำเข้าหลักของไทยจากญี่ปุ่นหดตัวทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นน่าจะกระเตื้องขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ส่งสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นโดยขยายตัวเกือบร้อยละ 5 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (m-o-m) อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความตกลง FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นในการเปิดเสรีการค้าสินค้า โดยสินค้าส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นได้แก่ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะไก่แปรรูป และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้าส่งออกของไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านการลงทุน จำนวนและมูลค่าโครงการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยลดลงในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นทรุดตัวอย่างหนักในปีที่ผ่านมา โดยจำนวนโครงการการลงทุนของญี่ปุ่นที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทย 130 โครงการ ลดลงร้อยละ 30.8 (y-o-y) และมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 30.2 พันล้านบาท ลดลงกว่าร้อยละ 20 (y-o-y) เทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2551 มูลค่า 37.8 พันล้านบาท สาขาลงทุนที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยส่วนใหญ่ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะและเครื่องจักร อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และกระดาษ และอุตสาหกรรมภาคบริการ

สำหรับแนวโน้มการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย คาดว่าคาดว่าโครงการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้เนื่องจากญี่ปุ่นได้ผ่านพ้นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจไปแล้ว และเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยสาขาการลงทุนที่คาดว่านักลงทุนญี่ปุ่นน่าจะเข้ามาขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในไทยได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานตามแนวโน้มการเติบโตของอุปสงค์ในตลาดและนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและไทย

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อป้อนสินค้ากลับสู่ญี่ปุ่น โดยนักลงทุนญี่ปุ่นสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง JTEPA และความตกลง FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นในด้านลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยกลับเข้าไปในญี่ปุ่น รวมถึงการลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมภาคบริการในประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตมากขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนธุรกิจการขนส่ง ค้าปลีก การก่อสร้างและการเงินประกันภัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ยังไม่มีความแน่นอนและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจของนักลงทุนญี่ปุ่นให้ชะลอการลงทุนในไทยได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากราคาน้ำมันที่มีทิศทางขาขึ้น

ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับชาติอาเซียนอื่นๆ ส่วนปัจจัยทางการเมืองของญี่ปุ่นที่ภาคธุรกิจไทยควรจับตามองคือกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ในวันที่ 30 สิงหาคม 2552 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองและผู้นำประเทศของญี่ปุ่นที่จะก้าวขึ้นมาบริหารประเทศคนต่อไปจะส่งผลต่อประเทศไทยทั้งในด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าและประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับที่ 1

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ