Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 กันยายน 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

1 ปีกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก : เศรษฐกิจจีนยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2631)

คะแนนเฉลี่ย

ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลงต่ำสุด เหลือร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรกในปีนี้ แต่ก็ยังถือว่าสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากอานิสงส์จากการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังของทางการจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 เติบโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.9 นับว่าฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ โดยเครื่องชี้วัดของเศรษฐกิจจีนในเดือนสิงหาคมยังสะท้อนถึงการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และยอดค้าปลีก ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นของจีนสามารถปรับตัวได้ดีกว่าตลาดหุ้นของประเทศอื่นๆ แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นของจีนได้ปรับลดลงร้อยละ 14 ในเดือนสิงหาคมถึงปัจจุบัน เมื่อเทียบกับระดับ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม

เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนต่อมาตรการควบคุมความร้อนแรงในตลาดสินทรัพย์ของทางการจีน แต่ดัชนีตลาดหุ้นของจีนก็ยังสามารถเติบโตได้ร้อยละ 27 จากเดือนกันยานยน 2551 ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ของวิกฤตการเงินโลกที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดหุ้นทั่วโลก สะท้อนว่านักลงทุนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน และสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ดีขึ้นใน 2 ไตรมาสสุดท้าย และมีแนวโน้มเติบโตได้ร้อยละ 8.0 ในปีนี้ ตามเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยท้าทายหลายประการที่ยังคงส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีข้อจำกัด ได้แก่

ความผันผวนของภาคส่งออก เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและไม่มั่นคงมากนัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลุ่มยูโร และญี่ปุ่นที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของจีนยังต้องประสบปัญหาภาคการบริโภคที่อ่อนแรง เนื่องจากปัญหาการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง

ความร้อนแรงในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่ออย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์ ทำให้ทางการจีนอาจจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมความร้อนแรงของตลาดสินทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ

แรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงราคาในตลาดสินทรัพย์ของจีนที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งเริ่มปรากฏสัญญาณการปรับตัวขึ้นของระดับราคาสินค้าในเดือนสิงหาคม โดยดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นเครื่องชี้อัตราเงินเฟ้อ และดัชนีราคาผู้ผลิต ยังคงอยู่ในแดนลบ แต่อัตราติดลบชะลอลงในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจในจีนปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันทำให้การบริโภคของประชาชนอ่อนแรงลงตามอำนาจซื้อที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่พึ่งพาเศรษฐกิจภายใน

การดำเนินนโยบายการเงินและมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปของทางการจีนอาจมีความยากลำบากมากขึ้น ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังไม่สามารถฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ภาคส่งออกของจีนมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้ภาคส่งออกไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ถือเป็นปัจจัยท้าทายของทางการจีนที่จะต้องดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลโดยใช้เครื่องมือหลายๆ ด้านเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพและลดผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานที่อาจสั่นคลอนต่อเสถียรภาพทางการเมืองของทางการจีน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ