Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 กันยายน 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

โมร็อกโก: แหล่งการค้า การลงทุน และช่องทางกระจายสินค้าที่น่าสนใจของไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2643)

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะการค้าและการลงทุนที่ซบเซาในช่วงปี 2552 ส่งผลให้รัฐบาลไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ออกนโยบายเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศปี 2553 เพื่อกระตุ้นการลงทุนไทยในต่างประเทศและเพิ่มโอกาสทางการค้าไทยในต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า โมร็อกโกเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและมีความพร้อมด้านการลงทุนโดยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนจากต่างประเทศอันดับ 4 ในทวีปแอฟริกา

ทั้งนี้เศรษฐกิจโมร็อกโกในช่วงปี 2540-2550 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ต่อปี ไตรมาสแรกของปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 3.7(YoY) และในปี 2552 มีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกในอัตราร้อยละ 5.4 ปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โมร็อกโกจึงมีศักยภาพและเป็นโอกาสทั้งด้านการค้าและการลงทุนของไทยเพื่อใช้เป็นช่องทางการกระจายสินค้าของไทยไปยังประเทศที่โมร็อกโกมีข้อตกลงทางการค้า เช่น ทวีปแอฟริกา ยุโรป สหรัฐฯ และกลุ่มอาหรับ เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การส่งออกของไทยไปโมร็อกโก ในระยะสั้นอาจชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโมร็อกโกที่ชะลอตัวโดยการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกไปโมร็อกโกหดตัวร้อยละ 28.7 แต่สำหรับในระยะต่อไปการส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างกันยังค่อนข้างต่ำและที่สำคัญมีปัจจัยสนับสนุนจากแรงขับเคลื่อนของความต้องการในประเทศและความต้องการจากคู่ค้าที่สำคัญของโมร็อกโก เช่น ยุโรป สหรัฐฯ และอาหรับ ประกอบกับการปรับลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าของโมร็อกโกโดยในปี 2552 อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยเหลือร้อยละ 20.2 จากร้อยละ 33.4 ในปี 2545

ส่งผลดีต่อสินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าแร่ที่มีอัตราภาษีอยู่ในระดับที่ต่ำร้อยละ19.9 และร้อยละ 9.1 ตามลำดับ แต่สำหรับสินค้าเกษตรค่อนข้างมีอุปสรรคจากอัตราภาษีที่ระดับค่อนข้างสูงร้อยละ 29(เมื่อเทียบกับสินค้าอื่น) นอกจากนี้การส่งออกสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าในโมร็อกโกจะมีอัตราภาษีค่อนข้างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 16 ในขณะที่การส่งออกวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปอัตราภาษีเฉลี่ยร้อยละ 21.5 และ 23.4 ตามลำดับ

สินค้าส่งออกที่สำคัญและมีโอกาสขยายตัวสูงของไทย ได้แก่ รถแวน รถปิกอัพ ส่วนประกอบรถยนต์ของรถยนต์นั่ง เครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า/ซักแห้ง ปลาทูน่ากระป๋อง ปลามีชีวิต/พันธุ์ปลา น้ำผลไม้ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืนจากเส้นใยประดิษฐ์ ของเล่น เครื่องสำอาง/สบู่ และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

โมร็อกโกเปิดกว้างแก่นักลงทุนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะการท่องเที่ยว การก่อสร้าง การสื่อสาร การขนส่ง และภาคการผลิต เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ทั้งปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นการลงทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า โอกาสการลงทุนของไทยในโมร็อกโก ได้แก่

ธุรกิจประมงมีโอกาสค่อนข้างมากเนื่องจากโมร็อกโกมีปัจจัยการผลิตที่พร้อมอยู่แล้วแต่ขาดศักยภาพในการผลิต

ธุรกิจก่อสร้าง ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการพัฒนาประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะการก่อสร้างบ้านราคาต่ำและการรับช่วงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จากนักลงทุนยุโรปในโมร็อกโก

ธุรกิจสปาไทยและร้านอาหารไทย ขยายตัวตามภาคการท่องเที่ยวในโมร็อกโกที่มีเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยว ประกอบกับสปาไทยและอาหารไทยเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวในโมร็อกโก อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจในโมร็อกโกมี

อุปสรรคหลายด้านที่ควรระวัง ได้แก่ ความเข้มงวดด้านแรงงาน ข้อจำกัดด้านสิทธิของผู้ถือหุ้น ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจที่ใช้เวลานาน เช่น ระยะเวลาการจดทะเบียนเป็นเจ้าของธุรกิจ และการจ่ายภาษี รวมทั้งการทำสัญญาการค้าที่เสียค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน และการนำเข้า-ส่งออกใช้เอกสารหลายชุด/ใช้เวลาดำเนินการหลายวัน เป็นต้น นอกจากนี้การขยายธุรกิจไทยในโมร็อกโกน่าจะส่งผลดีต่อความต้องการนำเข้าสินค้าไทยเพื่อรองรับการขยายธุรกิจไทยในโมร็อกโกได้อีกทางหนึ่ง เช่น วัตถุดิบประกอบอาหาร เครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตร เหล็ก วัสดุก่อสร้าง และเครื่องสำอาง/สบู่ เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ