Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 กันยายน 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เลือกตั้งเยอรมนีปี 2009...ผลต่อการส่งออกของประเทศไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2650)

คะแนนเฉลี่ย

ผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2552 ที่ผ่านมาเป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อนางแองเกลา แมร์เคิล สามารถกลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน จากผลงานของรัฐบาลเยอรมนีที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจนสามารถทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัวร้อยละ 0.3 (QoQ) ในช่วงไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 3.5 (QoQ) ถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศแรกของยุโรปเช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่สามารถขยายตัวได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปที่ยังคงหดตัวร้อยละ 0.1 การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปอย่างเหนือความคาดหมายนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีตลอดปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นเท่านั้น

แต่ยังเป็นความหวังหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของชาติอื่นในยุโรปที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับเยอรมนีขยายตัวตามไปด้วย แม้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของชาติอื่นในยุโรปขยายตัวได้

สำหรับผลการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ในระยะสั้นจะส่งผลต่อโอกาสการค้าและเศรษฐกิจโดยรวมต่อไทยไม่มากนัก เพราะผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล แต่การสานต่อแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะช่วยให้เศรษฐกิจเยอรมนีฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติยุโรปอื่นปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วยซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้เยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทยในตลาดยุโรปและเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทยในยุโรป สินค้าที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางที่เยอรมนีนำเข้าเพื่อไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก

ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีจึงน่าจะช่วยเปิดโอกาสให้ภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้เพิ่มขึ้นทั้งในตลาดเยอรมนีเองและจะเป็นแรงผลักดันให้การส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศอื่นในสหภาพยุโรปปรับตัวดีขึ้นภายหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยสินค้าส่งออกของไทยไปเยอรมนีที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีเช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น

ในระยะยาว การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของพรรคคริสเตียน เดโมแครต (CDU) ร่วมกับพรรคฟรี เดโมแครต (FDP) ซึ่งมีแนวนโยบายแบบเสรีนิยม ย่อมจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจของเยอรมนีมีแนวโน้มเปิดเสรีมากขึ้น เพราะทั้งสองพรรคมีนนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของเยอรมนีที่ลดลงจะช่วยให้ตลาดเยอรมนีมีความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะเปิดเสรีมากขึ้นของรัฐบาลเยอรมนีชุดใหม่อาจจะมีผลต่อการจัดตั้งเขตค้าเสรีอาเซียน-อียูที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันอาเซียนและอียูปรับเปลี่ยนรูปแบบการเจรจา FTA มาเป็นการเจรจาระหว่างกลุ่มอียูและอาเซียนรายประเทศ โดยอียูจะลงนามในความตกลงฯ FTA กับประเทศอาเซียนที่มีความตกลงว่าด้วยความร่วมมือการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน (PCA) เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีอินโดนีเซียเพียงชาติเดียวในอาเซียนที่มีความตกลงฯ PCA กับอียู

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ