Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤศจิกายน 2552

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เวียดนามปรับลดค่าเงิน & ขึ้นอัตราดอกเบี้ย : แต่คาดว่าเงินด่องยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดัน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2695)

คะแนนเฉลี่ย

การปรับลดค่าเงินด่องลงร้อยละ 5.4 จาก 17,034 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 17,961 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน นี้ รวมถึงการปรับลดช่วงขึ้น-ลง (Trading Band) ของอัตราแลกเปลี่ยนเงินด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ของทางการเวียดนามจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 3 คาดว่าจะช่วยให้ค่าเงินด่องมีเสถียรภาพได้ในระยะหนึ่ง ขณะที่ค่าเงินด่องอ่อนค่ามีแนวโน้มที่จะส่งผลให้การส่งออกของเวียดนามปรับตัวดีขึ้นและการนำเข้ามีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้าที่พุ่งสูงได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพด้านต่างประเทศ เสถียรภาพด้านการคลัง และเสถียรภาพด้านราคาของเวียดนามยังคงเป็นปัจจัยท้าทายต่อการเติบโตอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจเวียดนาม ที่อาจยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้มากนัก และทำให้นักลงทุนไม่ต้องการถือเงินสกุลด่อง โดยหันไปซื้อเงินสกุลที่แข็งกว่าแทนอย่างดอลลาร์สหรัฐฯ และทองคำ หรือการลงทุนในตลาดสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะต่อไปที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

สำหรับผลต่อประเทศไทย การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเวียดนามร้อยละ 1 จากปัจจุบันร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2552 นี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคา คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจภายในเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ประกอบกับค่าเงินด่องที่อ่อนค่าทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้นซึ่งอาจทำให้ความต้องการนำเข้าของเวียดนามอ่อนแรงลง ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยอาจชะลอลงตามไปด้วย

โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าสนองความต้องการผลิตและการบริโภคภายใน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าที่อุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็น เช่น เครื่องสำอาง ขณะที่การส่งออกของเวียดนามน่าจะมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นจากอานิสงส์ของค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลงทำให้ราคาสินค้าส่งออกของเวียดนามต่ำลงในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกของเวียดนามมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ซึ่งในกรณีนี้น่าจะช่วยให้สินค้าส่งออกของไทยไปเวียดนามประเภทสินค้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง สินค้าทุนที่เวียดนามพึ่งพาการนำเข้าจากไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออกเติบโตได้ดีขึ้นตามไปด้วย เช่น เส้นใย ผ้าผืน และพลาสติกขั้นต้น

อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของเวียดนามที่รุนแรงขึ้นจากความได้เปรียบด้านราคาของเวียดนามในตลาดที่สาม เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า อิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์ และข้าว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ