Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มีนาคม 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป และเอเชีย...จังหวะนโยบายการเงินที่แตกต่าง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2779)

คะแนนเฉลี่ย

แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก ได้มีความชัดเจนขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่ปี 2553 แม้ว่าจะเป็นไปในอัตราเร่งที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากที่วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกรอบล่าสุดสิ้นสุดลงนั้น เป็นส่วนที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าโดยเปรียบเทียบ และเป็นกลจักรตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ขณะที่ กลุ่มประเทศแกนหลัก G-3 ยังคงต้องแบกรับส่วนที่เปราะบางซึ่งแฝงอยู่ในแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า วัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางในเอเชียน่าที่จะมีความชัดเจนมากที่สุด โดยมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางจีน ธนาคารกลางอินเดีย ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหากพิจารณาตามความจำเป็นเร่งด่วนแล้ว ธนาคารกลางจีน และธนาคารกลางอินเดีย อาจเริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น แม้จะได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้นแล้ว แต่ปัจจัยทางการเมืองก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้จังหวะเวลาการคุมเข้มของกนง.ถูกเลื่อนออกไป

ในขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังอาจเผชิญอุปสรรคในส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยในส่วนของ ECB อาจต้องพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซนอย่างรอบคอบ ขณะที่ ปัญหาเงินฝืดก็อาจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BoJ มีความล่าช้าเช่นเดียวกัน ส่วนเฟดนั้น คาดว่า เฟดยังคงมีเวลาอีกหลายเดือนในการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ขณะที่ การอ่อนกำลังลงของเครื่องชี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ก็อาจเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลในการประเมินจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้า และสำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่า ธปท.คงติดตามประเด็นเฉพาะหน้า ซึ่งก็คือ ปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ โดยหากสถานการณ์การเมืองผ่านไปได้ด้วยดี และเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยยังคงบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเหมือนเช่นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็มีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะเริ่มปรับนโยบายการเงินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ในเอเชีย

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่สัญญาณขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางแกนหลัก (ธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น) ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้คาดว่า แรงขับเคลื่อนของเงินทุนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย น่าที่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินหยวนอาจเป็นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 ดังนั้น ภาพของการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย และเงินบาท ยังน่าที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า โดยสำหรับเงินบาทนั้น หากปัจจัยกดดันทางการเมืองในประเทศสามารถที่จะคลี่คลายลงด้วยความเรียบร้อย ขณะที่ การดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท.ยังคงเน้นไปในแนวทางที่ให้เงินบาทสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคแล้ว เงินบาทก็อาจมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบแนวต้านในระยะสั้นที่ระดับ 32.25/32.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ