Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มีนาคม 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจไต้หวันฟื้นตัวดีขึ้นปี 2553 : อานิสงส์ต่อการส่งออกของไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2780)

คะแนนเฉลี่ย

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มต้นในช่วงปลายปี 2551 ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไต้หวัน ทำให้การส่งออกของไต้หวันที่เป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหดตัวจนส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม โดยในปี 2552 เศรษฐกิจไต้หวันหดตัวร้อยละ 5.8 โดยตัวเลข GDP เริ่มหดตัวลงในไตรมาสที่สามของปี 2551 แต่เศรษฐกิจไต้หวันฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 1 ปีครึ่งโดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 สามารถกลับมาขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 8.4

การส่งออกไทยไปไต้หวันมีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2553 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไต้หวันโดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยและไต้หวันในเดือนมกราคม 2553 มีอัตราการขยายตัวสูงอย่างก้าวกระโดด (YoY) ทั้งนี้มูลค่าการค้ารวมของไทยกับไต้หวันขยายตัวร้อยละ 67.9 (YoY) การส่งออกไปยังไต้หวันขยายตัวร้อยละ 96.0 (YoY) และการนำเข้าจากไต้หวันขยายตัวร้อยละ 58.4 (YoY) หลังจากที่มูลค่าการค้าระหว่างกันเริ่มหดตัวลงในปี 2551 ต่อเนื่องถึง 2552 ในอัตราร้อยละ 1.6 และ 20.7 ตามลำดับ แม้ว่าการส่งออกที่พุ่งสูงนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในเดือนมกราคม 2552 ที่เป็นช่วงตรุษจีน แต่ก็เป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มการค้าระหว่างไทยและไต้หวันที่กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ

สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับอานิสงส์คือ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยางพารา รวมไปถึงเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องพักกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ผลจากกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนและไต้หวัน (Economic Corporation Framework Agreement: ECFA) ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในเดือนมีนาคม 2553 นี้น่าจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยไปยังไต้หวันในกลุ่ม แผงวงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม พลาสติก และเส้นใยสังเคราะห์ ที่ไต้หวันใช้เพื่อผลิตส่งออกไปจีนซึ่งมีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดจีนได้ดีขึ้นตามการเปิดตลาดของจีนและไต้หวันภายใต้ ECFA แต่อย่างไรก็ดีข้อตกลงดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องแข่งขันกับสินค้าส่งออกของไต้หวันในตลาดจีนในกลุ่มสินค้าดังกล่าวเช่นเดียวกับการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของจีนในตลาดไต้หวันด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยท้าทายประการหนึ่งของภาคส่งออกไทย

ในด้านการนำเข้าสินค้าของไทยจากไต้หวัน สินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มขยายตัวคือ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครี่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมไปถึงสัตว์น้ำสด แช่เย็น แปรรูปและกึ่งแปรรูป ด้ายและเส้นใย ผลิตภัณฑ์โลหะ ผ้าผืน และสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ดีแนวโน้มการนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับไต้หวันขึ้นอยู่กับความมั่นคงของการฟื้นตัวของกำลังซื้อของสองประเทศ การฟื้นตัวของคู่ค้า รวมไปถึงผลจากมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งสองประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งจะอยู่ในระยะฟื้นตัว ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหมาะสมจึงยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศอย่างมั่นคงในปีนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ