Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มีนาคม 2553

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน … คงไม่ถูกยกระดับเป็นสงครามการค้าในวงกว้าง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2786)

คะแนนเฉลี่ย

แรงกดดันของสหรัฐฯ ให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้นครั้งนี้เป็นการเรียกร้องไปตามความจำเป็นทางการเมืองภายในสหรัฐฯ ที่จะมีกำหนดเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรกลางเทอมรอบ 2 ปี ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการว่างงานและผลักดันภาคส่งออกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตามนโยบายที่ประกาศไว้ จึงพยายามกดดันให้จีนยืดหยุ่นค่าเงินให้แข็งค่ามากขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยการประกาศจะใช้มาตรการทางการค้าโดยการปรับขึ้นภาษีสินค้าส่งออกจากจีนหากจีนยังไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ซึ่งจีนอาจตอบโต้ทางการค้าโดยปรับขึ้นภาษีกับสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการทางการค้ากับจีนเพิ่มเติมเพื่อกดดันจีนคงจะเป็นการแสดงท่าทีในเชิงสัญลักษณ์เพื่อผลทางการเมืองมากกว่า ขณะที่โอกาสที่จะมีข้อพิพาททางการค้าที่ครอบคลุมสินค้าในวงกว้างและอัตราภาษีสูงจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งทำให้คาดว่าในที่สุดแล้ว ผลกระทบจากการใช้มาตรการทางการค้าของทั้งสองประเทศคงจะไม่รุนแรงนัก เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีนตระหนักถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน จากปัจจุบันที่ทั้งสองประเทศยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างกัน

สำหรับทางการจีนนั้น มีท่าทีปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่ง คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยทางการจีนคงจะพิจารณาจากภาวะเงินเฟ้อและความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศที่ในปัจจุบันยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อของจีนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในปีนี้ ตามการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่กดดันให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นด้วย ขณะที่ภาคส่งออกที่ฟื้นตัวได้แต่ยังไม่เต็มที่นัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในหลายๆ ส่วนยังเผชิญกับปัญหาการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง โดยเฉพาะในยุโรปที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีในระดับสูง โดยเฉพาะกรีซ และโปรตุเกส ทำให้การฟื้นตัวของยุโรปโดยรวมคงเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า ขณะที่ทางการจีนยังใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปีนี้ จึงคาดว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้นจากปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 แม้ว่าการเติบโตอาจชะลอลงไปบ้างตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและฟองสบู่ในภาคสินทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ก็คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้น่าจะขยายตัวได้อย่างน้อยร้อยละ 9

สำหรับผลกระทบต่อไทยจากกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน คาดว่าคงจะมี ไม่มากนักเช่นกัน แม้ว่าอาจมีผลกระทบบ้างในฐานะที่จีนเป็นผู้ผลิตและประเทศส่งออกรายใหญ่ของโลก ขณะที่ประเทศเอเชียและไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของจีน การใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ กับจีนโดยการปรับขึ้นภาษี อาจส่งผลทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยไปจีนที่จีนใช้ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ อาจต้องชะลอลงไปบ้างในบางรายการตามการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ที่ชะลอลงจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ แต่ผลกระทบค่อนข้างจำกัดและไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกไทยไปจีนโดยรวม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ